กรุงเทพ--10 เม.ย.--กฟน.
ม.ร.ว.จิยากร เสสะเวช ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ การไฟฟ้านครหลวงเปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี มักจะเกิดกระแสลมที่ค่อนข้างแรง หรือที่นิยมเรียกว่าพายุฤดูร้อนในเกือบทุกภาคของประเทศไทย ที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินและบ้านเรือนของประชาชน
ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรีและสมุทรปราการ แม้ว่าพายุฤดูร้อนจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อบ้านเรือนประชาชนมากนัก เนื่องจากสภาพการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ค่อนข้างแข็งแรง และภูมิประเทศที่มีตึกสูงกำบังลม แต่พายุทำให้สิ่งก่อสร้างชั่วคราวหรือไม่แข็งแรง หรือ ป้ายโฆษณา หรือต้นไม้ขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่รอบนอก เช่น นนทบุรี มีนบุรี บางพลี บางใหญ่ฯ หักโค่น หรือล้มเป็นจำนวนมาก และบางส่วนอยู่ล้มทับสายไฟฟ้าแรงสูงเป็นเหตุให้สายขาดหรือเสาล้ม เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งใช้เวลาในการแก้ไขนาน
ทางการไฟฟ้านครหลวง ได้ออกสำรวจแนวสายไฟฟ้าแรงสูงทั้งหมดว่า มีพื้นที่ใดบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว และขอความร่วมมือไปยังกรุงเทพมหานคร กรมทางหลวงหรือเทศบาลจังหวัด เพื่อร่วมกันหาทางป้องกัน และคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากเจ้าของป้ายโฆษณาหรือสิ่งปลูกสร้างใกล้แนวสายไฟฟ้าแรงสูงด้วย" ม.ร.ว.จิยากร กล่าวว่าสถิติไฟฟ้าดับของ กฟน.ที่มีสาเหตุมาจากป้ายโฆษณาหรือสิ่งปลูกสร้างใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงในระยะหลังเกิดขึ้นบ่อยมาก และมีผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง
ในรอบปีงบประมาณ 2539 ที่ผ่านมา เกิดเหตุขัดข้องในระบบสายไฟฟ้าที่เป็นสายอากาศถึง 785 ครั้ง ส่วนใหญ่มาจากป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ นอกจากนี้มีสาเหตุจากต้นไม้หรือกิ่งไม้ 346 ครั้ง และรถ, รถเครนหรือการก่อสร้าง 371 ครั้ง--จบ--