กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--แมสคอทคอมมิวนิเคชัน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดงานสานสัมพันธ์เครือข่ายภาครัฐและเอกชนเพื่อสะเต็มศึกษา "Public-Private Partnership for STEM Education" ในวันอังคารที่ 8 กันยายน 2558 เวลา 17.00 – 21.00 น. ณ ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพมหานคร ภายในงานมีการบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร, ศ.ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ประธานกรรมการ สสวท., ศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์, ไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) มอบโล่เกียรติคุณ
สสวท. ได้ดำเนินโครงการสะเต็มศึกษาประเทศไทย โดยส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ผสมผสานทั้งวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ เน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการทำงาน ช่วยนักเรียนสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง 4 สหวิทยาการ กับชีวิตจริงและการทำงาน การจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ไม่เน้นเพียงการท่องจำทฤษฎีหรือกฏทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจทฤษฎีหรือกฏเหล่านั้นผ่านการปฏิบัติให้เห็นจริงควบคู่กับการพัฒนาทักษะการคิด ตั้งคำถาม แก้ปัญหาและการหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อค้นพบใหม่ๆ พร้อมทั้งสามารถนำข้อค้นพบนั้นไปใช้หรือบูรณาการกับชีวิตประจำวันได้
สะเต็มศึกษาช่วยต่อยอดการเรียนรู้และช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีบทบาทสำคัญในการร่วมกันพัฒนาฝีมือ ผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพป้อนตลาดแรงงาน จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศนโนบายเดินหน้าสะเต็มศึกษาอย่างเต็มที่ ในรูปแบบของการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา(สอศ.) หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และอื่นๆ รวมทั้งในส่วนของหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ เริ่มเกิดความตื่นตัว เข้ามาให้การสนับสนุนการส่งเสริมการเรียนรู้สะเต็มศึกษามากขึ้น
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร กล่าวว่า โลกในศตวรรษที่ 21 อยู่ในยุคแห่งความเป็นโลกาภิวัฒน์ เป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร การแข่งขันในด้านเศรษฐกิจเน้นไปที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีความต้องการแรงงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสะเต็มศึกษาสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ และจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจและสังคมไทยเดินหน้าไปได้ก้าวไกลขึ้น โดยหวังว่าความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จะช่วยขับเคลื่อนให้สะเต็มศึกษา สัมฤทธิ์ผลได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
การดำเนินงานด้านสะเต็มศึกษาของ สสวท. ที่ผ่านมา คือ การจัดตั้งศูนย์สะเต็มศึกษาแห่งชาติและศูนย์ภูมิภาค การพัฒนาระบบ Learning Space สื่อการสอน กิจกรรมการเรียนการสอน การวางเครือข่ายมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญ และทูตสะเต็ม สำหรับสิ่งที่จะดำเนินการระหว่างปี 2558- 2562 ก็คือ ระบบ สะเต็มศึกษา ประกอบด้วย การพัฒนาระบบบริหารและปฏิบัติการสะเต็มศึกษา พัฒนาแนวปฏิบัติสะเต็มศึกษา พร้อมทั้งนำ แนวปฏิบัติสะเต็มศึกษาไปใช้ในโรงเรียน พัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้สะเต็มศึกษา ขยายโรงเรียน สะเต็มศึกษาในทุกสังกัด รวมทั้งพัฒนาครูสะเต็มศึกษา และครูวิชาชีพ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายภาครัฐและเอกชนเพื่อสะเต็มศึกษา
การสร้างเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของการพัฒนาสะเต็มศึกษา โดยการอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อช่วยเผยแพร่และขับเคลื่อนผลผลิตและกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ ไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงสร้างของเครือข่ายสะเต็มศึกษา สสวท. ประกอบด้วย ศูนย์สะเต็มศึกษาแห่งชาติ ศูนย์สะเต็มศึกษาภาค 13 ศูนย์ นอกจากนั้นยังมีส่วนที่สำคัญอันเป็นจุดประสงค์หลักในการจัดงานวันนี้คือ ทูตสะเต็ม ผู้เชี่ยวชาญในอาชีพในสายงานที่ใช้วิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์เป็นหลัก เช่น วิศวกรที่ประกอบอาชีพอยู่ในหน่วยงานต่างๆ สถาปนิก นักเคมี ฯลฯ ที่สามารถทำงานอาสาสมัครเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนไทย เห็นความสำคัญของการเรียนรู้แบบบูรณาการวิชา รวมทั้งแนะนำครูให้สร้าง ความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ และทักษะในการคิดวิเคราะห์ เชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อสร้าง ประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่นักเรียน