กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--นิวส์ เพอร์เฟค คอมมิวนิเคชั่น
สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ( Mekong Institute: MI ) จังหวัดขอนแก่น และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ จัดสัมมนา " การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและการตลาดไหมตามรูปแบบบรรษัทบริบาล (CSR) " สร้างประเทศไทย ให้เป็นศูนย์รวมการค้าไหมระหว่างประเทศ และร่วมส่งเสริมธุรกิจไหมในไทยและเอเชีย อย่างยั่งยืน
ดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ( Mekong Institute: MI ) เปิดเผยว่า ประเทศไทยถือเป็นผู้ค้าสำคัญรายหนึ่งในตลาดผ้าไหม กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง GMS รองจากประเทศจีน ปัจจุบันตลาดส่งออกไหมสำคัญของไทยในอาเซียน คือ สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ สถาบันฯ ลุ่มน้ำโขง ทำหน้าที่ในการส่งเสริม ให้ความรู้ รวบรวมกลุ่มผู้ประกอบการไหมทั้งในและต่างประเทศเข้าด้วยกัน โดยเลือกจังหวัดขอนแก่นเป็นฐานในการดำเนินงาน เพื่อขยายตลาดไปสู่ประเทศต่างๆในเอเชีย โดยเฉพาะตลาด อินโดนีเซีย ซึ่งมีกำลังซื้อสูงมาก รวมถึงการมาถึงของ เออีซี ที่จะทำให้ผู้ประกอบการไหมไทยมีโอกาสอีกมาก ในการเจาะตลาดกลุ่มนี้ ทั้งนี้การที่ผ้าไหมไทยจะเป็น ที่ยอมรับในตลาดต่างๆ ดังที่กล่าวมา จำเป็นต้องมีการนำเอา เทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต และให้ความสำคัญต่อการตลาดในรูปแบบบรรษัทบริบาล เนื่องจากเป็นเทรนด์ของโลก ที่จะให้การยอมรับบริษัท ที่ผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยี และมีความเป็นบรรษัทบริบาล
" อุตสาหกรรมไหมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในปัจจุบัน กำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ เช่น ผลผลิตตกต่ำ ราคาเส้นไหมนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาด้านคุณภาพ ปัญหาด้านกฎเกณฑ์ข้อบังคับของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเรื่องบรรษัทบริบาล และความทันสมัยของเทคโนโลยี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการผลักดันธุรกิจไหมด้วยการหาช่องทางและแนวทางการเจริญเติบโตแบบใหม่ บนเวทีใหม่ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความถดถอยของธุรกิจ เทรนด์ ของอุตสาหกรรมไหมโลกในวันนี้ ให้ความสำคัญกับ หลักบรรษัทบริบาล และเทคโนโลยี ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไหมจึงจำเป็นต้องปรับตัวเข้าสู่แนวทางใหม่นี้ เพื่อนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจได้อย่างยั่งยืน " ดร.วัชรัศมิ์ กล่าว
นายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ขอนแก่น เปิดเผยว่า ผ้าไหมของไทยมีชื่อเสียงและมีประวัติมายาวนาน แต่ละท้องถิ่นก็มีความแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะผ้าไหมในภาคอีสาน สามารถสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก และจดจำของผู้คนทั้งในและต่างประเทศ จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นเมืองหลวงของภาคอีสาน ด้วยทำเลที่มีศักยภาพ และบทบาทของจังหวัดในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไหมในประเทศไทยและในอาเซียนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแผน โรดแม็พ ที่ร่วมกันผลักดันกับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ด้วยวัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมให้จังหวัดขอนแก่นเป็น ไมซ์ ซิตี้ ศูนย์กลางผ้าไหมโลก ใน พ.ศ. 2559
ทั้งนี้ สถาบันฯ ลุ่มน้ำโขง และจังหวัดขอนแก่น ได้ทำกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมผ้าไหมไทย โดยเริ่มจาก พ.ศ. 2556 ที่มีการสัมมนาระดับนานาชาติครั้งแรกในหัวข้อ "เส้นทางสายไหม" หลังจากนั้นได้กลายมาเป็นการจัดกิจกรรมประจำปีของจังหวัดขอนแก่น ต่อด้วยการจัดสัมมนาและจับคู่ธุรกิจไหมนานาชาติ ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2557 และเพื่อเป็นการสนองตอบต่อภารกิจ ในการจัดกิจกรรม ครั้งที่ 3 นี้ จึงจัดขึ้นในรูปแบบการบูรณาการหลักบรรษัทบริบาล (CSR) ภายใต้หัวข้อ การจัดสัมมนาและจับคู่ธุรกิจไหมนานาชาติ เรื่อง "การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและการตลาดไหมตามรูปแบบบรรษัทบริบาล (CSR)" เพื่อให้ จังหวัดขอนแก่นกลายเป็น MICE City ศูนย์รวมการค้าไหมระหว่างประเทศ
หมายเหตุ
บรรษัทบริบาล เป็นศัพท์ที่ใช้โดย สถาบันไทยพัฒน์ ในปี 2550 ซึ่งนิยามความหมายจากศัพท์ภาษาอังกฤษและภาษาไทย คือ Corporate Social Responsibility (CSR) - ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร มาเป็น "บรรษัทบริบาล" โดยมีคำว่า บรรษัท+บริ (แปลว่า ทั้งหมด ออกไป โดยรอบ) +บาล ซึ่งหมายถึงการดูแลรักษาไม่เฉพาะในส่วนที่เป็นกิจการ แต่ยังแผ่ขยายกว้างออกไปครอบคลุมในส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ที่อยู่โดยรอบกิจการ ด้วยเงื่อนไขของความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะพลเมืองบรรษัท (corporate citizen) การมีคุณธรรม โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในและนอกกิจการอย่างเท่าเทียมกัน