กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--สมิติเวช
สมิติเวชได้จัดงานแถลงข่าว วิวัฒนาการใหม่ของการป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วยวัคซีนที่ครอบคลุม 4 สายพันธุ์ เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและลดการระบาดของโรคได้ดียิ่งขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์เสน่ห์ เจียสกุล ประธานคณะกรรมการป้องกัน และควบคุมการติดเชื้อ รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวว่า ในแต่ละปี ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 250,000 - 500,000 ราย และทุกปีมีคนไทยป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สูงถึง 50,000 – 70,000 ราย
สาเหตุของไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ซึ่งมี 3 ชนิด (type) คือ A, B และ C ไวรัสชนิด A เป็นชนิดที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก ไวรัสชนิด B ทำให้เกิดการระบาดในพื้นที่ระดับภูมิภาค ส่วนชนิด C มักเป็นการติดเชื้อที่แสดงอาการอย่างอ่อนหรือไม่แสดงอาการ และไม่ทำให้เกิดการระบาด ในอดีตไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A เป็นหลัก ปัจจุบันพบว่าสายพันธุ์ B เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยขึ้น
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งมีความจำเป็น นับตั้งแต่มีการแยกเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ครั้งแรกในปี 1933 วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ถูกผลิตขึ้น และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เหมาะสมและตรงกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในแต่ละปี
แพทย์หญิงอรอุมา บรรพมัย อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่จะมีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยกว่า และโดยทั่วไปอาการจะรุนแรงและยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดา ในผู้ที่มีโรคเรื้อรังอาจจะส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบอื่นๆหรือเกิดภาวะที่รุนแรงตามมา เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด อาจเกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ มีอาการหัวใจวาย ระบบประสาท อาจเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะมาก และซึมลง ระบบหายใจ เนื่องจากขณะที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่เพิ่มจำนวน เยื่อบุทางเดินหายใจจะถูกทำลายอย่างมาก ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หลอดลมอักเสบ ทำให้ไอมีเสมหะมาก เจ็บกลางอก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีดทั่วปอด ปอดบวม อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแล้วป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ อาจนำไปสู่ภาวะ diabetic ketosis (ผู้ป่วยเกิดภาวะระดับน้ำตาลสูง ภาวะกรดในเลือด และมีการคั่งของคีโตนในเลือด)อาจถึงแก่ชีวิตได้
กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ และควรได้รับการป้องกันด้วยวัคซีน
- เด็ก ที่อายุน้อยกว่า 2ปี จนถึง 5 ปี
- ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
- หญิงตั้งครรภ์ และ ผู้หญิงที่อยู่ในระยะ 2 สัปดาห์หลังคลอด
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์เสน่ห์ เจียสกุล ประธานคณะกรรมการป้องกัน และควบคุมการติดเชื้อ รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวเสริมว่า จากที่พบว่ามีการระบาดของสายพันธุ์ B บ่อยขึ้น ในปี 2012 องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้แนะนำให้เพิ่มไวรัสสายพันธุ์ B เข้าไปอีก 1 สายพันธุ์ ทำให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ 4 สายพันธุ์ ซึ่งประกอบไปด้วยไวรัสสายพันธุ์ A/H1N1 ,A/H3N2 และไวรัสสายพันธุ์ B 2 สายพันธุ์ คือ B/Victoria และ B/Yamagata วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ จึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
การศึกษาถึงประโยชน์จากการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์(Quadrivalent Influenza vaccine) ในต่างประเทศพบว่า
ในประเทศอังกฤษ พบว่าการใช้วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะสายพันธุ์ B มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม 18%
ในประเทศอเมริกา หากมีการใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ทดแทน วัคซีนชนิด 3 สายพันธุ์ จะช่วยลดผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้เพิ่มมากขึ้น 1.3 ล้านราย/ต่อปี ลดการเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้เพิ่มมากขึ้น 12,472 ราย /ต่อปี และลดการเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้เพิ่มมากขึ้น 663 ราย /ต่อปี
ในอเมริกา หากมีการใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ในโปรแกรมสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศในช่วง 20 ปีข้างหน้า พบว่ามีความคุ้มค่า จะช่วยลดผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้เพิ่มมากขึ้น 13.3 ล้านราย ลดการเข้ารพ.ด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้เพิ่มมากขึ้น 113,000 ราย และลดการเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้เพิ่มมากขึ้น 13,200 ราย ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้เพิ่มขึ้น 31,000 ล้านดอลลาร์ ลดค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ได้เพิ่มขึ้น 600 ล้านดอลลาร์
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยวัคซีนที่มีทั้ง 4สายพันธุ์(Quadrivalent Influenza vaccine)มีความสำคัญ เนื่องจากในทุก ๆ ปี จะพบการระบาดร่วมกันของสายพันธุ์ A ทั้ง 2 สายพันธุ์และสายพันธุ์B ทั้ง 2 สายพันธุ์อยู่เสมอ
ดังนั้นการใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์จะกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ที่ครอบคลุมเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่อาจระบาดในปีนั้นได้มากกว่า ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ (Quadrivalent Influenza vaccine) มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ลดลงมากกว่า
ศูนย์วัคซีน โรงพยาบาลสมิติเวช
โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท โทร.0-2711-8742-3
โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ โทร. 0-2378-9085