กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--โรงพยาบาลปิยะเวท
โรคมือ เท้าปาก หรือ Hand Foot Mouth disease และโรค Herpangina เป็นโรคระบาดที่พบได้บ่อยในเด็กทารก เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งเด็กในวัยนี้ก็จะเป็นวัยที่เตรียมอนุบาลหรือกำลังจะขึ้นอนุบาล พบบ่อยในโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก สาเหตุมาจากเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธ์ ได้แก่ coxackievirus A B , echovirus และ enterovirus 71 เป็นต้น เชื้อนี้จะทำให้เด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก และ Herpangina ได้ซ้ำหลายครั้ง อาการทั่วไปจะไข้หรือไข้สูง 1-2 วัน และเริ่มมีตุ่มแดงและแตกเป็นแผลตื้นๆ ปริมาณหลายแผลภายในช่องปาก กระพุ้งแก้ม เหงือก เพดานปากและลิ้นไก่ และมีผื่นนูนแดง ตุ่มน้ำใสบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ก้น เข่า ศอกและตามลำตัว เป็นต้น
พญ. พัชร เกียรติสารพิภพ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า สำหรับโรค มือ เท้า ปาก หรือ Herpangina เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก และส่วนใหญ่จะพบว่าเกิดการติดเชื้อมาจากเพื่อนที่โรงเรียน เพราะเมื่อเด็กรวมตัวกันอยู่ในโรงเรียนจะเกิดความแออัด เชื้ออาจจะแพร่กระจายได้ง่าย อีกทั้งอากาศที่ไม่ถ่ายเท อาจทำให้ส่งผลต่อการแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าปกติ โดยลักษณะของโรคจะมีแผลที่ช่องปากและเพดานปาก โดยไม่มีผื่นหรือตุ่มน้ำตามลำตัว เนื่องจากทั้งสองโรคเกิดจากเชื้อก่อโรคในกลุ่มเดียวกันจึงมักเกิดการระบาดพร้อมๆ กันและแยกโรคจากกันได้ค่อนข้างยาก ในประเทศไทยสามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบว่ามีการระบาดมากในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะเวลาเปิดภาคเรียน โรคนี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และมักจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน ภาวะไข้และแผลที่เกิดขึ้นในช่องปากและเพดานปากจะทำให้เด็กเกิดความอ่อนเพลีย เจ็บปวดในช่องปากโดยเฉพาะเวลารับประทานอาหาร ทำให้ เด็กไม่อยากรับประทานอาหารและน้ำ คุณพ่อ คุณแม่ สามารถให้การดูแลเบื้องต้นได้ด้วยการเช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะๆ ร่วมกับการให้รับประทานยาลดไข้ชนิดพาราเซตามอลเพื่อป้องกันภาวะชักจากไข้สูง ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด ดูแลให้ดื่มน้ำ น้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่อย่างเพียงพอเพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ และให้นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
ส่วนใหญ่โรคมือเท้าปากและ Herpangina มักมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง มีเพียงบางรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะชักจากไข้สูง ภาวะขาดน้ำรุนแรงหรือเกิดความผิดปกติของสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย ในบางรายที่เกิดจากการติดเชื้อสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงหรือร่างกายอ่อนแอมาก หรือมีภูมิต้านทานต่ำอาจเสี่ยงต่อภาวะก้านสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มีภาวะปอดบวมน้ำ หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตในเวลารวดเร็ว หากมีภาวะไข้สูง อาเจียน ชัก แขนขาอ่อนแรง ซึม ไม่ยอมรับประทานน้ำหรืออาหารได้อย่างเพียงพอควรรีบพามาพบแพทย์ เพื่อจะได้ดูแลอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังและให้การรักษา หากมีภาวะแทรกซ้อน เด็กที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ อย่างเด็กทารก เด็กที่ติดเชื้อHIV หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน ควรรีบพามาพบแพทย์โดยด่วน
พญ. พัชร เกียรติสารพิภพ กล่าวเสริมว่า สำหรับการป้องกันโรคนี้นั้น คุณพ่อ คุณแม่ควรเน้นการดูแลความสะอาดของข้าวของเครื่องใช้เป็นสำคัญ ไม่ควรใช้ ช้อน ส้อม จาน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ร่วมกัน ล้างมือก่อนและหลังให้เมื่อทำกิจกรรมร่วมกับลูกน้อย อาทิ หลังเข้าห้องน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือป้อนอาหาร การเช็ดทำความสะอาดพื้นที่และของเล่นที่ใช้ร่วมกันด้วยยน้ำยาฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานไปในสถานที่แออัดหรือที่พบมีการระบาด หากมีการระบาดพบผู้ป่วยหลายคน อาจพิจารณาปิดห้องเรียนหรือชั้นเรียนเพื่อทำความสะอาด อาจหยุดเรียนเพื่อพักรักษาตัวให้หายก่อน อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้เชื้อนั้นแพร่กระจายไปสู่เด็กคนอื่นๆ และสังเกตอาการเด็กที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ในปัจจุบันอาจจะยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคมือ เท้า ปาก แต่หากเราป้องกันอย่างถูกวิธีก็จะสามารถหลีกเลี่ยงโรคที่จะเกิดขึ้นกับลูกน้อยของคุณได้เช่นกัน