กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลโพลล์สำรวจคนเล่นเน็ตรับรู้เกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์การใช้ภาพที่เผยแพร่ทางช่องทางต่าง ๆ
หลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นมานั้น ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ข้อมูลหรือภาพทางอินเทอร์เน็ตซึ่งรวมถึงการเผยแพร่ผ่านช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่าง ๆ
การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อส่งภาพหรือข้อมูลต่าง ๆ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากผู้คนเป็นจำนวนมาก การบังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวจึงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และถูกพูดถึงกันเป็นวงกว้างในสังคมเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติ ข้อห้าม หรือข้อที่ทำได้ในการส่งข้อมูลหรือภาพผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งมีทั้งผู้ที่เข้าใจและผู้ที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาสำคัญในกฎหมายฉบับดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งข้อมูลหรือภาพผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์
จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความรับรู้และความคิดเห็นต่อการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์กับการส่งภาพ/ข้อมูลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6 - 11 กันยายน พ.ศ. 2558
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,141 คนสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.66 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.34 เป็นเพศชาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 31.73 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 - 34 ปี ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 34.27 และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชนคิดเป็นร้อยละ 31.03 ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจและนักเรียน/นักศึกษาคิดเป็นร้อยละ 23.66 และ ร้อยละ 19.89 ตามลำดับ
ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งภาพ/ข้อมูลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 49.87 ระบุว่าตนเองได้รับข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งภาพ/ข้อมูลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เพียงพอ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.05 ระบุว่าได้รับไม่เพียงพอ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.08 ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.76 ยอมรับว่าตนเองเข้าใจเกี่ยวกับข้อห้าม ข้อกำหนด ข้อควรปฏิบัติ ข้อที่สามารถทำได้เกี่ยวกับการส่งภาพ/ข้อมูลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์หลังจากที่กฎหมายลิขสิทธิ์มีผลบังคับใช้แล้วเป็นบางส่วน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.83 ระบุว่าตนเองเข้าใจทั้งหมด ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.41 ยอมรับว่าตนเองไม่เข้าใจเลย
เมื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการส่งภาพ/ข้อมูลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ก่อนและหลังจากที่กฎหมายลิขสิทธิ์มีผลบังคับใช้นั้น ก่อนที่กฎหมายลิขสิทธิ์มีผลบังคับใช้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 88.69 ยอมรับว่าตนเองเคยส่งภาพ/ข้อมูลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยมิได้อ้างอิง/ระบุแหล่งที่มา และหลังจากที่กฎหมายลิขสิทธิ์มีผลบังคับใช้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 81.42 ระบุว่าตนเองเคยส่งภาพ/ข้อมูลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยมิได้อ้างอิง/ระบุแหล่งที่มา
ในด้านความคิดเห็นต่อการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ กลุ่มตัวอย่างถึงสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 80.02 มีความคิดเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบันไม่ได้มีส่วนทำให้ตนเองส่งภาพ/ข้อมูลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์น้อยลง ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 83.44 ระบุว่าการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลกระทบกับการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในชีวิตประจำวันของตนเอง
อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.38 มีความคิดเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบันมีส่วนช่วยลดการส่งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.84 ระบุว่าไม่มีส่วน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.78 ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.51 มีความคิดเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบันจะมีส่วนทำให้ผู้คนในสังคมไทยคำนึงถึงการระบุแหล่งที่มาของภาพ/ข้อมูลที่ส่งผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.85 มีความคิดเห็นว่าไม่มีส่วน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.64 ไม่แน่ใจ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.03 ระบุว่าการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบันมีส่วนทำให้ท่านลดการส่งภาพ/ข้อมูลที่ไม่ได้ระบุแหล่งที่มาหรือเจ้าของผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 42.86 ระบุว่าไม่ได้ทำให้ลดการส่ง ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.11 ไม่แน่ใจ