กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้แถลงผลการประชุมPDMO – Market Dialogue ปีงบประมาณ 2559 ในวันที่ 11 กันยายน 2558 ซึ่งเป็นการประชุมหารือแบบหลายฝ่ายระหว่างสบน. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ผู้ค้าหลักของกระทรวงการคลัง (MOF Outright PD)และผู้ร่วมตลาดตราสารหนี้ประมาณ 150 ท่านซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะตลาดตราสารหนี้และความต้องการของนักลงทุนเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำแผนการระดมทุน ของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2559ตลอดจนแนวทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยในอนาคตโดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ประมาณการความต้องการระดมทุนของรัฐบาลสำหรับปีงบประมาณ 2559
ประมาณการความต้องการระดมทุนของรัฐบาลสำหรับปี งปม. 2559 วงเงินรวม 937,xxx ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1.1. การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิม (Rollover)
(ก) การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้ พ.ร.บ. หนี้สาธารณะ (ขาดดุลฯ) 104,xxx ลบ.
(ข) การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. FIDF 188,xxx ลบ.
(ค) การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน 80,xxx ลบ.
(ง) การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ล่วงหน้าโดยวิธีการแลกเปลี่ยนพันธบัตร 50,xxx ลบ.
1.2. การกู้เงินใหม่ในปี งปม. 2559 (รวมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน)
(จ) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 390,xxx ลบ.
(ฉ) การกู้เงินเพื่อนำมาให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ 63,xxx ลบ.
(ช) การกู้เงินเพื่อทดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ 61,xxx ลบ.
(ซ) การกู้เงินเพื่อนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ 1,xxx ลบ.
รวม 1.1 + 1.2 937,xxxลบ. (100%)
2. กลยุทธ์การระดมทุนของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2559
2.1 การออกพันธบัตรBenchmark
สบน.จะออกพันธบัตรBenchmark เป็นเครื่องมือหลักในการระดมทุน โดยจะออกพันธบัตรBenchmark รุ่นอายุ 5 ปี10 ปี 15 ปี 20 ปี 30 ปี และ 50 ปี วงเงิน 460,000 ล้านบาท ประกอบกับพันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ(ILB) วงเงิน 40,000 ล้านบาททำให้มีปริมาณวงเงินพันธบัตรรัฐบาล (Bond Supply) รวมทั้งสิ้น500,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของประมาณการความต้องการระดมทุน937,000 ล้านบาท และเนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สบน. ได้มุ่งเน้นการพัฒนาพันธบัตร Benchmark รุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี ให้มีสภาพคล่องสูงและสามารถทำหน้าที่เป็นอัตราอ้างอิงที่มีประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ตลอดจนได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยพันธบัตรทั้ง 2 รุ่น ได้ถูกนำไปคำนวณอยู่ใน Index ชั้นนำของต่างประเทศ ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2559สบน. จะเน้นการพัฒนาพันธบัตร Benchmark รุ่นอายุ 15 ปี และ 20 ปี ให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น โดยการออกพันธบัตรและวางตารางการประมูลให้เหมาะสม ตลอดจนขอความร่วมมือจาก MOF Outright PD ในการทำหน้าที่เป็น Market Makerในตลาดรอง และผลักดันให้พันธบัตรดังกล่าวอยู่ใน Index ต่างๆ ทั้งนี้ สบน. จะมีการประชาสัมพันธ์และติดตามประเมินผลการพัฒนาสภาพคล่องของพันธบัตรรุ่นที่กล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป
สำหรับปีงบประมาณ 2559 สบน. กำหนดออกพันธบัตร Benchmark จำนวน 6 รุ่น ได้แก่
• รุ่นอายุ 5 ปี : LB206A
• รุ่นอายุ 10 ปี : LB25DA
• รุ่นอายุ 15 ปี : LB296A
• รุ่นอายุ 20 ปี : LB366A
• รุ่นอายุ 30 ปี : LB446A
• รุ่นอายุ 50 ปี : LB616A
โดยพันธบัตร Benchmark รุ่น 5 ปี ยังคงให้เป็นรุ่นExclusivityและมี Greenshoe Optionโดยกระทรวงการคลังได้ให้สิทธิเฉพาะแก่MOF Outright PD ที่สามารถเข้าร่วมการประมูลพันธบัตร Benchmark รุ่น 5 ปี รวมทั้งให้สิทธิในการซื้อพันธบัตรBenchmark ดังกล่าวเพิ่มเติมในอัตราถัวเฉลี่ยรับ(Average Accepted Yield: AAY) เป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 20 ของพันธบัตรที่ได้รับจัดสรร โดยให้ใช้สิทธิดังกล่าวระหว่างเวลา 11.00 – 11.30 น. ของวันประมูล
2.2 การออกตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill)
สบน. มีแผนการออก T-Bill รุ่นอายุ 28 วัน อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยรักษาระดับเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ โดย สบน. จะออกตั๋วเงินคลังรุ่นอายุ 28 วัน วงเงิน 15,000 - 25,000 ล้านบาท ทุกสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเพื่อให้มีวงเงินเพียงพอต่อความต้องการของตลาด
2.3การออกพันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ(Inflation-Linked Bond: ILB)
สบน. ได้ดำเนินการพัฒนาพันธบัตร ILB มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เพื่อให้เป็นเครื่องมือหลักในการระดมทุนของรัฐบาลสร้างความหลากหลายในตราสารหนี้ภาครัฐ และเป็นทางเลือกในการลงทุนสำหรับนักลงทุนโดย สบน. ได้ทำการออกพันธบัตร ILB แล้วจำนวน 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นอายุ 10 ปี (ILB217A) และรุ่นอายุ 15 ปี (ILB283A)และ ได้ทำการเพิ่มยอดคงค้างให้กับพันธบัตร ILB ทั้ง 2 รุ่น ให้อยู่ในระดับ 100,000 ล้านบาทเพื่อสร้างสภาพคล่องให้เกิดขึ้นในพันธบัตร ILB ด้วยเหตุนี้ในปีงบประมาณ 2559สบน. จึงมีแผนที่จะออก ILB อย่างต่อเนื่อง โดยได้พิจารณาถึงการ re-openพันธบัตรทั้ง 2 รุ่นดังกล่าว และทำการออกพันธบัตร ILB รุ่นใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี ทั้งนี้ สบน. จะทำการหารือกับกลุ่มนักลงทุนและMOF Outright PD ในการประชุมถัดๆ ไปเพื่อกำหนดรุ่นอายุและช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการออกพันธบัตร ILB ต่อไป
3. กรอบวงเงินการประมูลแบบไม่แข่งขันราคา (Non-Competitive Bid: NCB)
ตามที่กระทรวงการคลังได้มีการประมูลรูปแบบ NCB อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานนักลงทุน และเปิดโอกาสให้นักลงทุนซึ่งเป็นมูลนิธิ สหกรณ์ นิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร และกองทุนที่เป็นนิติบุคคลที่ใช้ประโยชน์จากเงินต้นสามารถเข้าถึงพันธบัตรรัฐบาลโดยในช่วงที่ผ่านมามีความต้องการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น
สบน. ได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการพิจารณาทบทวนกรอบวงเงินในการประมูลรูปแบบNCB ให้สอดรับความต้องการลงทุนของนักลงทุน จึงได้พิจารณาปรับกรอบวงเงินการเข้าประมูลของนักลงทุนต่อรายเป็นดังนี้
นักลงทุนสามารถเสนอซื้อได้ตั้งแต่ 4 ล้านบาท แต่ไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินประมูลโดยกระทรวงการคลังจะจัดสรรพันธบัตรให้แก่ผู้เสนอซื้อในวงเงินประมูลส่วนที่ไม่เกิน 100 ล้านบาทแรกก่อน และจะจัดสรรเงินส่วนที่เหลือเพิ่มเติมตามสัดส่วนจำนวนที่เสนอซื้อ (Pro-rata)สำหรับส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทแรกซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559เป็นต้นไป
4. แผนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ปีงบประมาณ 2559
ในปีงบประมาณ 2559 สบน. มีแผนการออกพันธบัตรออมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการออมของภาคประชาชนและเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ และเนื่องจากในเดือนตุลาคม 2558 ผู้ใช้สิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.Undo(พ.ร.บ. การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. 2557) จะได้รับเงินคืน ประกอบกับในเดือนมิถุนายน 2559 จะมีพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ (ไทยเข้มแข็ง) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครบกำหนดอายุ ดังนั้น สบน. จึงวางแผนออกพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการลงทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวโดยจะประกาศเงื่อนไข อายุ และอัตราดอกเบี้ยให้ทราบต่อไป