กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการป้องกันไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศ ส่งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่ให้ความรู้ แนวทางปฏิบัติตนที่ถูกต้อง ย้ำสถานศึกษาต้องมีระบบคัดกรองนักเรียนอย่างใกล้ชิด ลดจำนวนผู้ป่วยและการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากรายงานการเฝ้าระวังผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ (สำนักระบาด กรมควบคุมโรค) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 กรกฎาคม 2558 พบผู้ป่วย จำนวน 36,109 ราย จาก 77 จังหวัด เสียชีวิต 22 ราย พบมากในช่วงอายุ 25 – 34 ปี รองลงมา 15 – 24 ปี และ 10 – 14 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เชียงใหม่ ลำปาง ระยอง ตราด และกรุงเทพมหานคร จากการคาดการณ์แนวโน้มการเกิดโรค พบว่าเดือนกรกฎาคม – เดือนตุลาคม 2558 จะมีผู้ป่วยประมาณเดือนละ 10,000 – 15,000 ราย โดยจะสูงสุดในเดือนสิงหาคม – กันยายน และคาดว่าปีนี้จะมีผู้ป่วยมากกว่าปีที่ผ่านมา ประมาณ 80,000 – 100,000 ราย กรมสบส. ได้กำชับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่ในชุมชน รณรงค์เผยแพร่ความรู้ แนะนำการป้องกัน แนวทางปฏิบัติตน และการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะสถานศึกษา เนื่องจากสถานศึกษาเป็นแหล่งที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ โรงเรียนควรจัดให้มีระบบการคัดกรองเด็กป่วย โดยสังเกตจากอาการ ไข้ ไอ มีน้ำมูก หากพบว่าเด็กมีอาการดังกล่าวให้ใส่หน้ากากอนามัย และแจ้งผู้ปกครองให้มารับกลับไปพักฟื้นที่บ้าน และควรทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในกรณีต้องให้นักเรียนหยุดการเรียน ควรมีจุดล้างมือ และมีสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในห้องน้ำ และโรงอาหาร พร้อมอธิบายวิธีการล้างมือที่ถูกต้องแก่นักเรียน มีการทำความสะอาดอุปการณ์ เช่น ราวบันได เครื่องคอมพิวเตอร์ ตู้ดื่มน้ำเป็นประจำ ควรส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับนักเรียน จัดให้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และสร้างวิทยากรเพื่อให้ความรู้แก่บุคลากร นักเรียน ในสถานศึกษาเป็นต้น
ด้าน นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เน้นย้ำให้อสม. ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ป้องกัน และสังเกตอาการผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ หากพบ มีไข้สูงฉับพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะและปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วย อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไข มีน้ำมูกไหล เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาเจียนและท้องเสีย ร่วมด้วย เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน และจะมีอาการที่รุนแรงกว่าผู้ป่วยวัยอื่น เน้นย้ำมาตรการ กินร้อน กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ปรุงอาหารด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง หากจำเป็นต้อง รับประทานอาหารเก็บไว้นานเกินกว่า 4 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนนำมากินอีกครั้ง และดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ช้อนกลาง ช้อนกลางช่วยป้องกันโรคที่ติดต่อผ่านทางน้ำลาย ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ คอตีบ คางทูม วัณโรค โปลิโอ ไวรัสตับอักเสบ ไม่ให้แพร่กระจายระหว่างบุคคลได้ และยังช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคผ่านทางน้ำลายของผู้กินลงไปปนเปื้อนในอาหาร และยังเป็นการสร้างพฤติกรรมอนามัยที่ถูกต้อง ล้างมือ ล้างมือทุกครั้งก่อน-หลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ เพื่อเป็นการป้องกันโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำซึ่งจะเป็นพาหะก่อให้เกิดโรค เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงห่างไกลโรคไข้หวัดใหญ่