กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า จากนโยบาย Digital Economy ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ ส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้เป็นสารสนเทศในการทำงานและสร้างมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นการพัฒนาให้เกิดการใช้ข้อมูลมหาศาลหรือ Big Dataของภาครัฐ จะนำไปสู่การบูรณาการด้านโครงสร้างข้อมูล การจัดการข้อมูล การวิเคราะห์หาคุณค่าจากข้อมูล การเลือกใช้เครื่องมือที่มีความเหมาะสม และส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการข้อมูลของภาครัฐให้ได้ประโยชน์สูงสุดอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในขณะนี้หน่วยงานภาครัฐพร้อมจะมุ่งสู่การปฏิรูประบบข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล เพื่อการสร้างเครื่องมือในการบริการสาธารณะใหม่ๆ ที่สำคัญคือเพื่อช่วยสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของหน่วยงาน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอแนะด้านนโยบาย และตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ รัฐบาลเล็งเห็นประโยชน์ เพื่อมองเห็นภาพรวมของเศรษฐกิจและเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาความสามารถทางด้านต่างๆเพื่อใช้ในการแข่งขันกับประเทศต่างๆต่อไป
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EGA เปิดเผยว่า ในปี2560 หน่วยงานราชการของไทยจะเข้าสู่การใช้เทคโนโลยี Big Data หรือ การใช้ข้อมูลมหาศาลของภาครัฐ โดย EGA จะเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการและเปิดให้บริการกับทุกหน่วยในรูปแบบของ Government Big Data as a Service โดยวางสถาปัตยกรรมให้ทำงานบน Government Cloud Computing หรือ G-Cloud ซึ่งหน่วยงานราชการคุ้นเคยและใช้บริการอยู่ในขณะนี้
ปัจจุบัน EGA ได้คัดเลือกสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมในการพัฒนาระบบ 3 รูปแบบ ประกอบด้วยSystem Architecture สำหรับการประมวลผลแบบ Batch, Interactive และ Real Time โดยทั้ง 3 แบบทาง EGA จะได้นำมาใช้เป็นตัวแบบสำหรับการพัฒนาระบบ Government Big Data as a Service เพื่อให้บริการด้าน Big Data Analytics สำหรับใช้ในราชการไทยต่อไป ขณะนี้ได้มีการพัฒนาต้นแบบ และกำหนดรูปแบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สำหรับ Government Big Data as a Service แล้ว
"การวางสถาปัตยกรรมเช่นนี้เพราะข้อมูลภาครัฐมีความหลากหลาย และความต้องการในการนำไปใช้งานซึ่งมีหลายรูปแบบตามไปด้วย สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือข้อมูลภาครัฐที่ได้รับการจัดเก็บไว้จะถูกนำมาประมวลผลด้วยวิธีการใหม่ๆ สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารได้ทันต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้อมูล เช่น เดิมข้อมูลเคยถูกนำไปใช้ในตัดสินใจระดับบริหารงานทั่วไป เมื่อมีระบบ Big Data Analytics ก็นำข้อมูลเดิมมาประมวลผลแล้วได้มุมมองใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจในระดับบริหาร นอกจากนี้ Big Data Analytics ยังสามารถแจ้งเตือนผู้บริหารผ่านทางช่องทางต่างๆ กรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินได้อีกด้วย" ดร.ศักดิ์กล่าว
ภายในหนึ่งปีนับจากนี้ EGA จะทำการติดตั้งระบบทั้งหมด ทั้งการลงทุนจัดซื้อฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงจัดการเครือข่าย หรือเน็ตเวิร์คกิ้ง ทั้งระบบ เพื่อทำให้ระบบ Government Big Data as a Service ของไทยถูกบริหารจัดการโดยหน่วยงานเดียวเพื่อลดความยุ่งยาก และการลงทุนที่ซับซ้อน อีกทั้งต้องการให้ข้อมูลและการวิเคราะห์ทั้งหมดอยู่ในแพลตฟอร์ม หรือมาตรฐานในด้านต่างๆ ที่เหมือนกัน
เมื่อระบบได้ทำการติดตั้งแล้วเสร็จ หน่วยงานราชการทั่วไปที่ต้องการใช้งานระบบ Big Data Analytics หรือระบบการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล สามารถออนไลน์เข้ามาใช้บริการได้ โดยเงื่อนไขการดำเนินงานจะเป็นเช่นเดียวกับการให้บริการระบบ G-Cloud ในปัจจุบัน ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลสามารถทำได้ทั้งการวิเคราะห์จากข้อมูลของตนเอง หรือการวิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงานตนเองผสมกับหน่วยงานอื่นที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งจะทำให้เกิดการบูรณาการข้อมูลและทำให้การตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น
การที่ EGA เข้ามาดำเนินการ Big Data as a Service บนระบบ G-Cloud ในครั้งนี้เป็นการลงทุนต่อยอดจากระบบ Infrastructure as a Service หรือ IaaS ซึ่งในปัจจุบันมีระบบของหน่วยงานราชการไทยใช้งานอยู่กว่า 700 ระบบ โดยการดำเนินงานนี้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้บริหารระดับ CEO และCIO ของกระทรวงต่างๆ ที่เข้าศึกษาในหลักสูตรรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 2 และได้ข้อเสนอให้ EGA ดำเนินการ Big Data ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT แล้ว