กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เปิดตัวโครงการ "พัฒนาการและการวัดผลการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน สำหรับสังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Advance SCP) " ซึ่งต่อเนื่องจากความร่วมมือกันก่อนหน้านี้ในโครงการการจัดซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและฉลากสิ่งแวดล้อม (SCP4LCE) ที่เพิ่งสิ้นสุดลง หลังจากการดำเนินงาน 3 ปี และประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ คือได้ผลักดันให้มีการเพิ่มหลักเกณฑ์เรื่องการปกป้องสภาพภูมิอากาศ ไว้ในข้อกำหนดของฉลากสิ่งแวดล้อมในสินค้า 13 อย่าง อาทิเช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนซ์ กระดาษถ่ายเอกสารหรืองานพิมพ์ทั่วไป ยางรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย และสนันสนุนให้เกิดความร่วมมือกันในภูมิภาค โดยร่วมจัดตั้งเครือข่าย ASEAN+3 อีกด้วย
สำหรับโครงการ Advance SCP ซึ่งเป็นโครงการใหม่นี้ จะมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ด้วยงบประมาณจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้าง และความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดย GIZ จะร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการจัดซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและฉลากสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในการดำเนินโครงการ
ดร. วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า "โครงการ Advance SCP เป็นการขยายความร่วมมือของเรากับประเทศเยอรมนีเพื่อพัฒนาการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน โครงการฯ จะสนับสนุนกรอบสิบปีว่าด้วยการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (10 YFP on SCP) โดยเฉพาะในส่วนของฐานข้อมูลสำหรับผู้บริโภค และจะยังคงส่งเสริมให้มีการเพิ่มหลักเกณฑ์เรื่องการปกป้องสภาพภูมิอากาศไว้ในเกณฑ์ข้อกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐและฉลากสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ต่อไป นอกจากนี้ โครงการฯ จะช่วยสนับสนุนให้เกิดตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศที่จะนำไปสู่การปล่อยมลพิษที่น้อยลง การค้าและการลงทุนในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคก็จะเพิ่มขึ้นจากการรวมตัวกันของฉลากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ด้วย"
มร. โทมัส เลห์มันน์ ผู้อำนวยการโครงการ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวว่า "การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และฉลากสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ทั้งยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจก โครงการ Advance SCP ซึ่งเกิดขึ้นจากความสำเร็จของโครงการ SCP4LCE จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศในการสร้างกลไกของการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และฉลากสิ่งแวดล้อมให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อมุ่งหน้าสู่สังคมเศรษฐกิจสีเขียว ด้วยกิจกรรมมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพองค์กร การกำหนดกรอบการทำงานด้านนโยบาย การพัฒนาศักยภาพด้านเทคนิค การบริหารจัดการระบบข้อมูลที่ยั่งยืน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้"
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินการทั่วโลก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของกระทรวงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลเยอรมัน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ และธนาคารโลก GIZ ดำเนินงานอยู่ในกว่า 130 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 16,500 คน