กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--หอการค้าไทย
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หนุนรัฐบาลเร่งเครื่องปฏิรูปภาษีเพื่อทางรอดเศรษฐกิจไทย พร้อมเร่งรัดการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศอย่างจริงจัง เสนอรัฐมนตรีคลังท่านใหม่เร่งสานต่อการปฏิรูปภาษีให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในอนาคต
ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการภาษี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า
"มาตรการด้านภาษีถือเป็นนโยบายหนึ่งในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญ ทั้งในแง่การจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมาย การเสริมสร้างธรรมาภิบาล และยกระดับมาตรฐานระบบภาษีให้เป็นสากล รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้ว่าภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงการคลัง ซึ่งกำกับดูแล 3 กรมภาษีหลัก ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และกรมสรรพากร ก็ได้มีความพยายามในการดำเนินการปฏิรูปภาษีมาอย่างต่อเนื่องตลอด1 ปีที่ผ่านมา และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งหลายเรื่องสอดคล้องกับความเห็นของภาคเอกชนและประชาชน"
"จากงานวิจัยของสถาบันวิชาการนโยบายกิจการสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งได้ทำการศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตไปก่อนหน้านี้ โดยมุ่งไปที่การปฏิบัติตามหลักพื้นฐานของภาษีที่ดี ซึ่งสภาหอการค้าฯ เห็นว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเรื่อง ความโปร่งใส (Transparency) ความง่ายในการปฏิบัติ (Simplicity) หลักการรายได้คงเดิม (Revenue Neutrality) และหลักการมีส่วนร่วม (Participation) ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการบริหารประเทศอย่างยั่งยืนระยะยาว"
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปภาษีขณะนี้ยังมีความล่าช้ากว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากกระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนการออกกฎหมาย เช่น ร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต และร่าง พ.ร.บ. ศุลกากร ซึ่งมีมากกว่า 200 มาตรา "
ดังนั้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สมาชิกหอการค้า รวมถึงเป็นฐานข้อมูลในการผลักดันให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายโดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อ "ขับเคลื่อนปฏิรูปภาษี : เอกชนมีส่วนร่วม" ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 นี้
"อยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่านใหม่ พิจารณาเร่งรัดการปฏิรูปภาษีสรรพสามิต และศุลกากร ตามแนวทางที่ครม. อนุมัติ และอยู่ในกระบวนการพิจารณากฎหมาย รวมถึงพิจารณาปฏิรูปภาษีที่ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม เช่น การแก้ไขประมวลรัษฎากร เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายภาษีเหล่านี้ได้ในเร็ววัน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสนับสนุนการค้าและการลงทุนในประเทศไทยท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว"ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ฯ กล่าวปิดท้าย