กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--สมาคมธนาคารไทย
สมาคมธนาคารไทย โดย ๑๕ ธนาคารพาณิชย์ ชมรม CSR สมาคมธนาคารไทย ร่วมกับภาคสังคมนำโดย สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ฯ และองค์กรภาคีต่างๆ เปิดมิติความร่วมมือครั้งสำคัญ ภายใต้โครงการ "รู้เก็บ รู้ใช้ สบายใจ" หรือ Saving for Change เพื่อปฏิรูปความรู้พื้นฐานทางการเงินให้แก่เยาวชนในระดับอุดมศึกษา ให้มีความรู้ด้านการวางแผนการเงินอย่างบูรณาการ ภายใต้หลักสูตร 4 รู้สู่ความมั่งคั่ง (รู้เป้าหมาย รู้ใช้จ่าย รู้จักออม รู้ลึกลงทุน)
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า "การให้ความรู้ทางการเงินถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยให้เยาวชนซึ่งจะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ในฐานะภาคสถาบันการเงินซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้คำนึงถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างมาก ตลอดจนกระทรวงการคลังเอง ก็ได้มอบนโยบายในการส่งเสริมความรู้ทางด้านการเงินและการสร้างวินัยทางการเงินให้กับสมาคมธนาคารไทยไปดำเนินการ ทั้งนี้ ความรู้พื้นฐานทางการเงินเป็นเรื่องที่สนุกและน่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตของน้องๆ เยาวชนในการดำรงชีวิต และเป็นพลังสำคัญในการร่วมพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องขอขอบคุณธนาคารสมาชิก ๑๕ แห่ง ชมรม CSR สมาคมธนาคารไทย และสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สอ.ดย.) ตลอดจนภาคีพันธมิตรทุกภาคส่วน ที่ทำงานอย่างหนัก และร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ จนกระทั่งเกิดเป็นโครงการรู้เก็บ รู้ใช้ สบายใจ หรือ Saving for Change และเป็นที่น่ายินดีว่าโครงการในระยะแรกนี้ประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเยาวชนและภาคสังคมเป็นอย่างดี ทางสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก เห็นพร้อมกันที่ควรจะดำเนินการต่อ ซึ่งยังคงมอบหมายให้ชมรม CSR และ สอ.ดย. เป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากมีบุคลากรและองค์ความรู้ที่สมบูรณ์เป็นมาตรฐานเดียวกัน อันจะส่งผลให้สร้างความเข้มแข็งกับเยาวชนด้วยทัศนคติด้านการเงินที่ถูกต้อง นอกจากนี้ สมาคมธนาคารไทยได้กำหนดแผนงาน ๕ ปีของสมาคม โดยยกให้เรื่องการให้ความรู้ทางการเงินแก่สังคมเป็นภารกิจสำคัญประการแรกของแผน ซึ่งมีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้สนับสนุนหลักด้านนี้ร่วมกับคณะทำงานจากธนาคารอื่นๆ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมอีกด้วย"
คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการอำนวยการ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สอ.ดย.) เปิดเผยว่า "ความร่วมมือกับชมรม CSR สมาคมธนาคารไทยในโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความร่วมมือระหว่าง สอ.ดย. กับภาคเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาความรู้ทางการเงินให้กับเยาวชน โดยนำจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายมาเสริมซึ่งกันและกันในกระบวนการดำเนินงาน เช่น สภาองค์การเด็กและเยาวชนบริหารจัดการเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ จ.นครปฐม ในขณะที่ชมรม CSR นำความเชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้ทางการเงินของธนาคารสมาชิกมาทำให้โครงการรู้เก็บ รู้ใช้ สบายใจ บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน และมีศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และภาคีร่วม มาเสริมให้เนื้อหาการเรียนรู้ในโครงการเกิดบูรณการอย่างแท้จริงตั้งแต่การสอนให้เยาวชนมีความรู้ในการบริหารจัดการทางการเงินส่วนบุคคล การรู้ทันภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพ การรู้ถึงสิทธิหน้าที่ของตนเองในฐานะผู้ใช้บริการทางการเงิน และทัศนคติที่จะไม่สร้างความมั่งคั่งจากการทุจริตอีกด้วย และเนื่องในปี ๒๕๕๘ เป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ๕ รอบ ภาคีหลักจึงพร้อมใจกัน จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ โดยนำโครงการ "รู้เก็บ รู้ใช้ สบายใจ" ไปจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการในงานมหกรรมเจ้าฟ้านักพัฒนาเด็กและเยาวชนที่จะมีขึ้นในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙"
นางสาวฐิตินันท์ วัธนเวคิน ประธานชมรม CSR สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า "โครงการรู้เก็บ รู้ใช้ สบายใจ เป็นมิติใหม่ของการรวมพลังครั้งสำคัญอีกครั้ง ของธนาคารพาณิชย์ไทย ๑๕ แห่ง ร่วมด้วยภาคสังคม คือ สอ.ดย. ตลอดจนสถาบันการศึกษา และองค์กรภาคีร่วม โครงการในปีแรก เริ่มตั้งแต่มกราคม ๒๕๕๗ - กันยายน ๒๕๕๘ ภายใต้กลยุทธ์ "Train the Trainers" และ "The Trainers Train Change Agents" ส่งผลให้ภารกิจหลักบรรลุผลสำเร็จ ประกอบไปด้วย การสร้าง Trainers จากธนาคารสมาชิก ๑๕ แห่ง รวม ๔๑ คน เพื่อเพิ่มเทคนิคการถ่ายทอดความรู้สู่เยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของภาคธนาคาร ถัดมาคือจัดกิจกรรม The Trainers Train Change Agents ในรูปแบบค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำนักศึกษา ให้กับสถาบันระดับอุดมศึกษาชั้นนำ ๗ แห่ง ใน จ.นครปฐม (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหิดล ศิลปากร ราชภัฏนครปฐม เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหามกุฎราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยคริสเตียน) รวมถึงสภาเด็กและเยาวชน จ.นครปฐม โดยได้ถ่ายทอดความรู้พื้นฐานทางการเงินที่ถูกต้องให้กับนักศึกษา ๒๘๐ คน ในจำนวนนี้ มี Change Agent หรือแกนนำศึกษา ๗๕ คน ไปขยายผล สร้างสรรค์ ๑๕ กิจกรรม นำไปสู่การเผยแพร่และมีผู้ได้รับประโยชน์เป็นกลุ่มนักศึกษา และเยาวชนในระดับประถมและมัธยมศึกษาราว ๔,๓๐๐ คน นอกจากนี้สถาบันการศึกษายังมีโอกาสสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ภายในสถาบันอีกด้วย และที่สำคัญได้พัฒนาหลักสูตร ๔ รู้สู่ความมั่งคั่ง (รู้เป้าหมาย รู้ใช้จ่าย รู้จักออม รู้ลึกลงทุน) เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปใช้กับเยาวชนเป็นมาตรฐานเดียวกัน ในระยะที่ ๒ ที่ได้รับมอบหมายต่อนี้ จะยังคงมุ่งมั่นการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การสร้างเยาวชนที่มีความรู้พื้นฐานทางการเงินที่ถูกต้อง ตลอดจนมีส่วนช่วยปฏิรูปการกระดับรายได้ประชากรให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง หรือ Middle Income Trap ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็งต่อไป"
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ทำการสำรวจระดับความรู้ทางการเงินของคนไทยทั้งประเทศ เมื่อปี ๒๕๕๖ ในภาพรวมพบว่าคนไทย ๑๔ ล้านคน (๒๕.๗%) ของประชากรทั้งหมด ยังขาดความรู้และพฤติกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มอาชีวะ และอุดมศึกษา มีปัญหาในสัดส่วนสูง จึงจำเป็นจะต้องมีการให้ความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ มิเช่นนั้นอาจกลายเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนตลอดจนปัญหาหนี้นอกระบบได้
โครงการรู้เก็บ รู้ใช้ สบายใจ เป็นการทำงานภายใต้ความร่วมมือของภาคีหลัก ๒ องค์กร ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย และสภาองค์การพัฒาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สอ.ดย.) โดยมีภาคีร่วมอีก ๕ แห่ง คือ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชมรม CSR สมาคมธนาคารไทย เครือข่ายนักพัฒนารุ่นใหม่ภาคตะวันตก และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อร่วมกันเผยแพร่ความรู้ทางการเงินส่วนบุคคลขั้นพื้นฐาน ความรู้เรื่องภัยทางการเงินและสิทธิหน้าที่ของผู้ใช้บริการทางการเงิน และการต่อต้านการทุจริตให้แก่นักศึกษาระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัย ๗ แห่งใน จ. นครปฐม ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยคริสเตียน รวมถึงสภาเด็กและเยาวชน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายที่สมาคมธนาคารไทยได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้ทำการให้ความรู้ทางการเงิน
โครงการ ในระยะแรกนี้ประสบความสำเร็จตามแผนงาน ซึ่งจะมีการดำเนินโครงการในระยะที่ ๒ ต่อเนื่องในพื้นที่ จ.นครปฐม โดยขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังสถาบันการศึกษาต่างๆ เพิ่มเติม