กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
กลุ่มมิตรผล ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลระดับโลกและชีวพลังงานจากประเทศไทย ร่วมแสดงนวัตกรรมด้านการจัดการไร่อ้อยยุคใหม่ระดับเวิลด์คลาสแบบ "มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม" และแนวคิดการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบ Value Creations เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อ้อย ในงาน 12th China-ASEAN Expo 2015 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-21 กันยายน 2558ที่เมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างยิ่งใหญ่เพื่อฉลองครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีน
กลุ่มมิตรผล เป็นหนึ่งในบริษัทไทยกลุ่มแรกที่ได้ร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำตาล ณ มณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน ในนามของบริษัท Guangxi Nanning East Asia Sugar Ltd. (East Asia Sugar Group) ตั้งแต่ปีพ.ศ.2536 ได้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงาน The 12th China-ASEAN Expo 2015 (CAEXPO) ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-21 กันยายน 2558 ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนานาชาติเมืองหนานหนิง มณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งนับเป็นงานมหกรรมการแสดงนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของจีนเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 40 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน
นายจารึก กรีทวี กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจประเทศจีน กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า "กลุ่มมิตรผล มุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการจัดการในอุตสาหกรรมน้ำตาลและชีวพลังงาน เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีกระบวนการผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ กลุ่มมิตรผล จึงได้เข้ามาลงทุนในมณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นระยะเวลารวมกว่า 22 ปี โดยเราได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาพัฒนาและขยายธุรกิจต่อเนื่องจากอ้อยเริ่มตั้งแต่การค้นคว้าวิจัยในสาขาต่างๆ เช่น การพัฒนาพันธุ์อ้อย การควบคุมศัตรูพืชอ้อย และการพัฒนาการจัดการในไร่อ้อย รวมถึงการนำเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ นวัตกรรมด้านการผลิตน้ำตาลคุณภาพสูงหลากหลายประเภท และการสร้างมูลเพิ่มต่อเนื่องจากอ้อย ทำให้เราสามารถขยายธุรกิจจากน้ำตาล เป็นพลังงานหมุนเวียนประเภทไฟฟ้าชีวมวล จนถึงธุรกิจปุ๋ยคุณภาพสูงสำหรับเกษตรกรในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกลุ่มมิตรผล จะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมน้ำตาลและชีวพลังงาน รวมถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ที่โดดเด่น และผลงานด้านการวิจัยที่จะช่วยพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของจีน มาจัดแสดงในงาน CAEXPO ครั้งนี้"
บูธนิทรรศการของกลุ่มมิตรผลจัดแสดงอยู่ภายในโซนนวัตกรรม (ชั้น 1 ห้องที่ 3) ภายใต้แนวคิด"A Value Creation Company" ที่แสดงถึงการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดการเพื่อยกระดับมาตรฐานการทำไร่อ้อยทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ ประกอบด้วยการนำเสนอใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1. ศักยภาพและการพัฒนาของอุตสาหกรรมอ้อยไทยและแนวคิดในการพัฒนาธุรกิจด้วยรูปแบบValue Creations ที่เริ่มต้นจากการวิจัย พัฒนาและการจัดการ จนเกิดเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อ้อย รวมถึงประโยชน์ที่สรรค์สร้างสู่สังคม
2. การพัฒนาธุรกิจของกลุ่มมิตรผลในสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เริ่มต้นจากน้ำตาลสู่พลังงานไฟฟ้าชีวมวล และปุ๋ย รวมถึงประโยชน์ที่สรรค์สร้างจากธุรกิจสู่สังคม และการพัฒนาศักยภาพชาวไร่อ้อย
3. การบริหารจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีระดับเวิลด์คลาสแบบ "มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม" (ModernFarm Management) โดยใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย (Mechanization) ที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการจัดการ และเป็นแนวทางของการทำไร่อ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ตอบรับกับนโยบายการส่งเสริมภาคเกษตรของรัฐบาลจีนในโครงการ Double High ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตอ้อยและเพิ่มความหวานในอ้อย
การเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ CAEXPO ของกลุ่มมิตรผลในครั้งนี้ สะท้อนถึงความสำเร็จของกลุ่มมิตรผลในการขยายการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งศักยภาพการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมน้ำตาลและชีวพลังงาน การสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้กับชุมชนท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจีน ซึ่งนับเป็นโมเดลการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
สำหรับแผนการการดำเนินธุรกิจในสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น นอกจากคุณภาพและมาตรฐานการผลิตในทุกกลุ่มธุรกิจแล้ว กลุ่มมิตรผล ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไร่อ้อยด้วยการช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้จากการทำไร่อ้อย เพื่อให้ชาวไร่อ้อยสามารถประกอบอาชีพนี้ในภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืน ผ่าน 3 แนวทาง ได้แก่
1. แนวทางการช่วยลดต้นทุนในการทำไร่อ้อย
§ โครงการลดค่าใช้จ่ายชาวไร่อ้อยในรัศมี 10 กิโลเมตร เป็นโครงการที่โรงงานน้ำตาลได้ปรับปรุงระบบการรับอ้อยเพื่อให้เหมาะสมสำหรับชาวไร่อ้อยขนาดเล็ก ช่วยให้ชาวไร่สามารถลดต้นทุนโดยรวมได้กว่า 185 หยวนต่อตันอ้อย (คิดเป็นเงินไทย 1,036 บาท) หรือลดลงประมาณ 60% (ต้นทุนที่ลดลงประกอบด้วยต้นทุนในการเก็บเกี่ยว การขนส่งอ้อย และการสูญเสียน้ำหนักของอ้อย)
§ โครงการสถานีขนถ่ายย่อย เป็นโครงการสำหรับชาวไร่อ้อยขนาดกลางที่โรงงานได้สร้างสถานีรับอ้อยสำหรับชาวไร่ที่อยู่ห่างจากโรงงานในระยะ 20-50 กิโลเมตร ช่วยให้ชาวไร่สามารถลดต้นทุนโดยรวมได้ 140 หยวนต่อตันอ้อย หรือ คิดเป็นเงินไทย 784 บาท (ต้นทุนที่ลดลงประกอบด้วยต้นทุนในการเก็บเกี่ยว การขนส่งอ้อย และการสูญเสียน้ำหนักของอ้อย)
กลุ่มมิตรผล มีเป้าหมายที่จะพัฒนาชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของกลุ่มมิตรผลในประเทศจีนที่มีจำนวนกว่า100,000 ราย ผ่าน 2 โครงการหลักนี้ในปีหน้า คิดเป็นสัดส่วน 40% และจะขยายแนวทางการพัฒนาให้ครอบคลุมชาวไร่อ้อยคู่สัญญาทั้งหมดภายในระยะเวลา 5 ปี
2. แนวทางการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย
§ การสนับสนุนปัจจัยในการเพาะปลูก อาทิ การควบคุมศัตรูพืช ปุ๋ย พันธุ์อ้อย เครื่องจักรในการเกษตรต่างๆ ในรูปแบบของเงินส่งเสริมปีละกว่า 200 ล้านหยวน (1,100 ล้านบาท) เงินช่วยเหลือปีละ 10-20 ล้านหยวน (50-100 ล้านบาท) และการสนับสนุนด้านสาธารณูปโภค อาทิ ระบบชลประทานและระบบทางปีละกว่า 30 ล้านหยวน (150 ล้านบาท) เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้
§ การจัดระบบผู้รับเหมา สำหรับชาวไร่อ้อยขนาดกลาง ที่โรงงานน้ำตาลได้ให้คำปรึกษาและจัดระบบให้ชาวไร่อ้อยขนาดกลางที่มีเครื่องจักรกลการเกษตร สามารถรับเหมาทำกิจกรรมเพาะปลูก บำรุงและเก็บเกี่ยวอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยขนาดเล็กที่ไม่สามารถดูแลเองได้ทั่วถึง ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชนท้องถิ่น และรายได้ของชาวไร่ที่เพิ่มขึ้น
3. แนวทางการส่งเสริมด้านการศึกษาเพื่อสร้างความยั่งยืนในอาชีพ
§ กลุ่มมิตรผล ให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้ให้แก่ชาวไร่ เพื่อให้เกิดเป็นความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพอย่างมั่นคงและยั่งยืน จึงมีโครงการเกี่ยวกับการให้ความรู้มากมาย อาทิ โครงการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างชาวไร่ เพื่อสร้างองค์ความรู้เพิ่มเติม และโครงการมอบทุนการศึกษาสำหรับบุตรหลานเกษตรกรที่มีความสนใจในด้านเกษตรกรรม เป็นต้น
"ปัจจุบัน สาธารณรัฐประชาชนจีน มีชาวไร่อ้อยประมาณ 40 ล้านคน โดยกว่า 60% ของจำนวนทั้งหมดนั้นเป็นชาวไร่อ้อยขนาดเล็กที่มีปริมาณอ้อยประมาณ 50 ตันต่อปี อีกทั้งชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่สูงอายุ ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพให้กับชาวไร่อ้อย จึงไม่เพียงแต่จะช่วยให้ชาวไร่อ้อยสามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองได้จากต้นทุนที่ลดลงและรายได้ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และนำคนรุ่นใหม่กลับสู่ท้องถิ่น รวมถึงสร้างโอกาสและความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของจีนในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากอ้อยด้วยเช่นกัน กลุ่มมิตรผล ในฐานะขององค์กรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการจัดการไร่อ้อยมานานกว่า 60 ปี จึงนำรูปแบบของการพัฒนาชาวไร่อ้อยที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีเป้าหมายในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐของจีนในโครงการ Double High ที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้ชาวไร่สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตอ้อยและเพิ่มความหวานในอ้อย ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพให้กับอุตสาหกรรม และ
สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน" นายจารึก กล่าวสรุป
เกี่ยวกับธุรกิจของกลุ่มมิตรผลในสาธารณรัฐประชาชนจีน
กลุ่มมิตรผลเริ่มต้นดำเนินธุรกิจในสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 โดยเริ่มจากการเข้าร่วมลงทุนกับโรงงานน้ำตาลในมณฑลกวางสี ในนามบริษัท Guangxi Nanning East Asia Sugar Ltd.( East Asia Sugar Group) จากนั้น จึงได้พัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล และธุรกิจปุ๋ยคุณภาพสูง
ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลเป็นผู้ผลิตน้ำตาลจากอ้อยรายใหญ่อันดับที่ 3 ของจีน โดยมีโรงงานน้ำตาลจำนวน 6 แห่งมีกำลังการหีบอ้อย 10 ล้านตันต่อปี คิดเป็นผลผลิตน้ำตาล 1.3 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรกที่เมืองฝูหนาน กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ ถือเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มอีกหนึ่งแห่งที่เมืองหนิงหมิง รวมถึงการร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทศักดิ์สยามจากประเทศไทยในการพัฒนาธุรกิจปุ๋ยผสมคุณภาพสูง กำลังการผลิต 300,000 ตันต่อปี ที่เมืองหนิงหมิง เพื่อให้เกษตรกรชาวจีนได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสม