กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--สมิติเวช
รพ. สมิติเวชร่วมกับ Teddy House จัดงาน Give a Bear, Give a New Life โดยรายได้จากการจัดจำหน่ายทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย สมทบทุนเข้ากองทุนสมิติเวช เพื่อชีวิตใหม่ไขกระดูกเด็ก เพื่อช่วยเหลือน้องๆ ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่ป่วยด้วยโรคที่ต้องการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขประดูก เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในปี พ.ศ. 2558 การร่วมกันทำบุญนี้เป็นปณิธานของ รพ.สมิติเวชที่อยากจะนำความเชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ตอบแทนคืนสังคมไทยเพื่อหวังให้เด็กๆ ได้รับการรักษาที่รวดเร็วเพื่อกลับไปมีชีวิตที่มีความสุขอีกครั้งกับครอบครัว
ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา ที่ปรึกษาฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของกองทุนสมิติเวชเพื่อชีวิตใหม่ กล่าวถึง กองทุนสมิติเวช เพื่อชีวิตใหม่หัวใจเด็ก ว่า โรงพยาบาลสมิติเวชได้ทำการผ่าตัดหัวใจตั้งแต่ปี 2552 โดยทำการผ่าตัดหัวใจทั้งเด็กชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดสูง โดยปัจจุบันได้ทำการผ่าตัดเด็กไปแล้วทั้งหมด 107 รายและยังคงดำเนินการผ่าตัดไปอีก ซึ่งโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ มีแนวคิดโดยประสานกับมูลนิธิโรคหัวใจในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ในการจัดตั้งกองทุน
โดยอุบัติการณ์ของโรคหัวใจพิการณ์แต่กำเนิดในประเทศไทยจะมีประมาณ 8-10 คน ต่อเด็กเกิดใหม่ 1,000 คน ดังนั้นในแต่ละปีจะมีเด็กเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดสูงถึงประมาณ 7,000-8,000 คน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งอาจจะหายได้ด้วยการรักษาทางยา ส่วนอีกครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 3,500-4,000 คนนั้นจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด มิฉะนั้นจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือมีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ โดยร้อยละ 20 ปีจะเสียชีวิตจากขวบปีแรก ในทางกลับกันการผ่าตัดหัวใจจะเป็นการช่วยให้เด็กๆเหล่านี้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีคล้ายการได้ชีวิตใหม่
แม้ในปัจจุบันโครงการหลักประกันสุขภาพของรัฐบาลจะช่วยให้ผู้ป่วยเด็กมีโอกาสได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดมากขึ้น แต่เนื่องจาก รพ.ของรัฐเองมีขีดความสามารถในการผ่าตัดเด็กโรคหัวใจเพียงปีละไม่เกิน 2,000 ราย ดังนั้นจึงมีเด็กที่รอรับการผ่าตัดอยู่ประมาณ 1,500-2,000 รายทุกปี
พญ. สมสิริ สกลสัตยาทร ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กองทุนสมิติเวช เพื่อชีวิตใหม่ กล่าวถึงกองทุนสมิติเวช เพื่อชีวิตใหม่กระดูกสันหลังคดในเด็ก จากการวิจัยพบว่า เด็กไทยมีกระดูกสันหลังคด ในอัตรา 1 ต่อ 10,000 คนซึ่งต้องรักษา ส่วนกระดูกสันหลังคดน้อยไม่ต้องรักษาก็มีจำนวนไม่น้อย ระยะหลังพบเด็กเป็นโรคนี้มากขึ้น เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ให้ความใกล้ชิดและสนใจเด็กมากขึ้น และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อเพิ่มขึ้น พันธุกรรมก็เป็นสาเหตุทำให้หลังคดได้ เนื่องจากพบว่าบางครอบครัวมี พี่น้องหลังคด หรือฝาแฝดหลังคด แม้แต่บางครอบครัวมีลูกคนเดียว ก็อาจพบว่า เด็กเกิดมาหลังคดได้ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ซึ่งเป็นที่กังวลใจของคุณพ่อคุณแม่และเป็นปมด้อยของเด็กด้วย
ผู้ปกครองสามารถตรวจกระดูกสันหลังของเด็กคร่าวๆ ด้วยตัวเองโดยให้เด็กยืนตัวตรง แล้วดูแนวสันหลังว่า ตรงหรือไม่ จากนั้นให้เด็กก้มหลังลง มือแตะพื้น ถ้ามองตามเส้นแนวกระดูกสันหลังแล้วไม่คด ก็แสดงว่าปกติ แต่ถ้ามีแนวไม่ตรง และสงสัยว่าจะคด ควรพาเด็กไปพบคุณหมอ เพื่อให้ตรวจวินิจฉัยและติดตามผล ว่าอาจมีอาการมากขึ้นในระยะยาวต่อไปหรือไม่ ในอนาคตกระดูกสันหลังคดตั้งแต่วัยรุ่น ถ้าไม่รักษาจะคดเพิ่มขึ้น มีผลกระทบต่อสุขภาพได้มาก เช่น ตัวเอียง ไหล่ตก แนวสะโพกเอียง รูปร่างพิการ ปวดหลัง มีปัญหาทางระบบหายใจ หอบเหนื่อยง่าย เป็นโรคปอดบวม ปอดอักเสบ หัวใจทำงานหนัก อาจทำให้หัวใจล้มเหลวได้
พญ. สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ ผู้อำนวยการ รพ.เด็กสมิติเวชและประธาน กองทุนสมิติเวช เพื่อชีวิตใหม่ กล่าวถึงกองทุนสมิติเวช เพื่อชีวิตใหม่ไขกระดูกเด็กว่า ศูนย์ปลูกถ่ายไขกระดูก โลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 และประสบความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยเด็กที่ต้องรับการรักษาด้วยวิธี ปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อให้หายขาดจากโรคที่เป็นอยู่ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง โรคไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดและโรคทางพันธุกรรมอย่างธาลัสซีเมีย ซึ่งพบบ่อยที่สุด การปลูกถ่ายไขกระดูกจะประสบความสำเร็จได้นั้นมีปัจจัยมาจากการได้รับไขกระดูกที่เข้ากัน เช่น พี่กับน้อง หรือจากผู้บริจาค ในปัจจุบันนี้มีวัฒนาการใหม่ที่สามารถนำไขกระดูกจากคุณแม่หรือคุณพ่อมาปลูกต่อให้กับลูกได้ แต่ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการรักษาคือค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ผู้ป่วยหนึ่งรายต้องเสียค่าใช้จ่ายหลักหลายแสนถึงหลักล้านบาท ด้วยเหตุนี้กองทุนสมิติเวช เพื่อชีวิตใหม่ไขกระดูกเด็กจึงเกิดขึ้น เพื่อให้การช่วยเหลือและเพิ่มโอกาสแก่ผู้ป่วยเด็กที่ต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายไขกระดูก
ถึงวันนี้ เรามีความภาคภูมิใจที่ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูกสามารถกลับไปมีชีวิตได้อย่างเป็นปกติแล้วมากกว่า 30 ราย ด้วยปณิธานที่จะให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยเทคโนโลยีการปลูกถ่ายไขกระดูก ความพร้อมของคณะแพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญ การดูแลเอาใจใส่ในทุกๆด้านของผู้ป่วยตั้งแต่แรกเข้ารับการรักษา จวบจนการดูแลภายหลังจากออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว เป็นสิ่งที่ทางโรงพยาบาลตระหนักถึงอยู่ตลอดเวลา
คุณปิตุภูมิ หิรัณยพิชญ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เท็ดดี้ เฮ้าส์ จำกัด กล่าวว่า เท็ดดี้เฮ้าส์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลน้องๆ ที่ป่วยและขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสได้กลับมามีสุขภาพสมบูรณ์และมีความสุขกับครอบครัวอีกครั้ง โดยทางบริษัทอยากให้ตุ๊กตาหมีคอลเล็คชั่นนี้เป็นเสมือนเพื่อนและเป็นกำลังใจน้องๆให้ฟันฝาอุปสรรคต่างๆไปให้ได้
ภายในงานพบกับกิจกรรมมากมาย พบกับกิจกรรมมากมายประมูลน้องหมีจาก คุณก้อง สหรัฐ สังคปรีชา คุณแพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ และ น้องแพทริก ปัญญายงค์ การจำหน่ายหมีรุ่น Limited Edition พิเศษ 900 ตัวเท่านั้นกระทบไหล่ดาราและเซเลบริตี้ชื่อดัง คุณก้อง สหรัฐ คุณหนิง ศรัยฉัตร คุณนิหน่า สุฐิตา (รายได้จากการจัดงานทั้งหมดโดยไม่หัก
ค่าใช้จ่ายสมทบเข้ากองทุนสมิติเวช เพื่อชีวิตใหม่ ) นอกจากนี้ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมทำบุญในครั้งนี้ ด้วยการซื้อน้องหมีราคาตัวละ 800 บาท ได้ที่ร้านพรรณธราใน รพ. สมิติเวช สุขุมวิท รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ และทาง Online http://svhcc/newlifebear (จนกว่าของจะหมด)
การร่วมกันทำบุญนี้เป็นปณิธานของ รพ.สมิติเวชที่อยากจะนำความเชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ตอบแทนคืนสังคมไทยเพื่อหวังให้เด็กๆ ได้รับการรักษาที่รวดเร็วเพื่อกลับไปมีชีวิตที่มีความสุขอีกครั้งกับครอบครัว