กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สมศ. เร่งหารือประเทศสมาชิกองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองรับการถ่ายโอนหน่วยกิตนักศึกษา การเคลื่อนย้ายผู้เรียนระหว่างกันทั่วอาเซียน สร้างความพร้อมก่อนเปิดประชาคมอาเซียน
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. นำธงประชุมเวทีเครือข่ายการประกันคุณภาพอุดมศึกษาอาเซียน+3 ASEAN Quality Assurance Network (AQAN) เร่งผลักดันกรอบ AQAF เพื่อสร้างความพร้อมอุดมศึกษาก่อนเปิดประชาคมอาเซียน อาทิ การแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ การถ่ายโอนหน่วยกิต (Credit Transfer) การยอมรับคุณวุฒิระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ฯลฯ โดยปัจจุบันกระบวนการในการประกันคุณภาพในอาเซียนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งในอนาคตระบบการประเมินคุณภาพจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น ทั้งนี้ระหว่างปี 2558 ถึง 2563AQAN ได้ร่วมกับสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการชื่อ European Union Support to Higher Education in the ASEAN Region (EU-SHARE) โดยจะให้ความช่วยเหลือในการถ่ายทอดประสบการณ์ของสหภาพยุโรปเรื่องการสร้างความกลมกลืนในระบบการอุดมศึกษา และการสร้างระบบประกันคุณภาพที่เทียบเคียงกันได้ในอาเซียน
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยในฐานะประธานเครือข่ายประกันคุณภาพอาเซียน หรือ ASEAN Quality Assurance Network (AQAN) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานประกันคุณภาพการศึกษาใน 10 ประเทศทั่วอาเซียน ได้มีข้อตกลงร่วมกันว่า ทุกประเทศสมาชิกจะยอมรับความหลากหลายในระบบการประกันคุณภาพของประเทศสมาชิก และจะร่วมมือกันสร้างแนวทางในการสร้างความกลมกลืนด้านการอุดมศึกษาของอาเซียน โดยร่วมกันจัดทำ กรอบการประกันคุณภาพอาเซียน (ASEAN Quality Assurance Framework: AQAF) เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างระบบเทียบเคียงและสร้างความกลมกลืนให้เกิดระบบประกันคุณภาพที่มีมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงเพื่อสร้างความกลมกลืน การแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ การอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์ การถ่ายโอนหน่วยกิต (Credit Transfer) และการยอมรับคุณวุฒิระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหลังการเปิดเสรีอาเซียนจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
โดย AQAF ประกอบไปด้วยรายละเอียดกรอบข้อตกลง 4 ประการ ดังนี้ 1. มาตรฐานหน่วยงานประเมินคุณภาพภายนอก (Principles of External Quality Assurance Agency) 2. มีระบบการประเมินคุณภาพภายนอก (Principles of External Quality Assurance Processes) 3. มีระบบการประกันคุณภาพภายใน (Principles of Internal Quality Assurance) 4. มีการกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ (Principles of National Qualifications Framework) โดยกรอบข้อตกลง 4 ประการดังกล่าวได้ส่งเสริมให้ทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนไปปฏิบัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ทว่าการนำไปใช้นั้นจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ แต่ความแตกต่างทั้งหมด ล้วนอยู่ภายใต้กรอบข้อตกลงร่วมกันของ AQAF เพื่อเป็นการสร้างความพร้อมและป้องกันปัญหาอันอาจจะเกิดขึ้นหลังจากการเปิดประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 - 3 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. ในฐานะประธานเครือข่ายประกันคุณภาพอาเซียน หรือ ASEAN Quality Assurance Network (AQAN) ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหาร AQAN ครั้งที่ 3/2558 และการประชุมโต๊ะกลมของสมาชิกทั้ง 10ประเทศ ประจำปี 2558 ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ โดยมีวาระสำคัญได้แก่ การยอมรับธรรมนูญของเครือข่ายประกันคุณภาพอาเซียน และการนำเครือข่ายประกันคุณภาพอาเซียนไปอยู่ภายใต้สำนักเลขาธิการอาเซียน ความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านกรอบการประกันคุณภาพการศึกษาอาเซียน (ASEAN Quality Assurance Framework หรือAQAF) การเพิ่มขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ประกันคุณภาพ การประชุมระดมประเด็นปัญหาและความท้าทายของการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากหน่วยงานประกันคุณภาพการศึกษาในอาเซียน การวางแผนดำเนินงานในปี 2559 วางแผนงานความร่วมมือด้านการประกันคุณภาพการศึกษาร่วมกับประเทศอาเซียนบวกสามได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น ตลอดจนการทำงานร่วมกับสหภาพยุโรปภายใต้โครงการ EU Support to Higher Education in ASEAN Region (EU SHARE)
การจัดประชุมอาเซียน+3 ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาความร่วมมือด้านการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของภูมิภาคอาเซียนให้มีความเป็นสากล โดยเครือข่ายการประกันคุณภาพอาเซียนเป็นเครือข่ายที่เกิดจากการรวมตัวของหน่วยประกันคุณภาพภายนอกของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศตั้งแต่ปี 2551 โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาความร่วมมือด้านการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างใกล้ชิด ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายการประกันคุณภาพอาเซียนมีการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารและการประชุมโต๊ะกลมอย่างต่อเนื่องทุกปี ปัจจุบัน คณะกรรมการบริหาร AQAN ในวาระปัจจุบัน (ปี 2558 - 2560) ประกอบด้วย 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการจาก 6 ประเทศคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเวียดนาม ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนให้ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของภูมิภาคอาเซียนมีความเป็นสากล (Internationalization) และมีความกลมกลืน (Harmonization)รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้ระบบการประกันคุณภาพของอาเซียนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
สำหรับการประชุม ASEAN Plus Three Quality Assurance Expert Meeting ที่กรุงมะนิลาในครั้งนี้ มีการหารือกันในหัวข้อการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายผู้เรียนระหว่างประเทศสมาชิกองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization หรือ SEAMEO) ผ่านทางโครงการASEAN International Mobility Students Programs (AIMS) แนวทางการเคลื่อนย้ายผู้เรียนระหว่างประเทศอาเซียนบวกสาม การถ่ายโอนหน่วยกิต รวมถึงโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนบวกสาม เป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการหาแนวทางร่วมกันในการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายผู้เรียนระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวถึงภาพรวมของ ของสถานการณ์ของระบบการประเมินมาตรฐานการศึกษาในอาเซียนว่า ปัจจุบัน อาเซียน มีจำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา 18-20 ล้านคน มีจำนวนสถาบันอุดมศึกษาในอาเซียนประมาณกว่า 6,000 แห่ง เป็นสถาบันเอกชน 5,500 แห่ง การประกันคุณภาพในอาเซียนมีกระบวนการแตกต่างกัน แบ่งออกเป็น การรับรองมาตรฐาน (accreditation) การติดตามผล (audit) และการประเมิน (assessment) ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า ทุกประเทศสมาชิกจะยอมรับความหลากหลายในระบบการประกันคุณภาพของประเทศสมาชิก และจะร่วมมือกันสร้างแนวทางในการสร้างความกลมกลืนด้านการอุดมศึกษาของอาเซียน (harmonization of ASEAN higher education system) รวมถึงจะส่งเสริมสนับสนุนประเทศสมาชิก ให้นำแนวทางของ AQAF ไปสร้างระบบการประกันคุณภาพของแต่ละประเทศให้สามารถเทียบเคียงกันได้
ทั้งนี้ในอนาคตระบบการประเมินคุณภาพในอาเซียนจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น เพื่อตอบสนองนโยบายของอาเซียนในการสร้างระบบประกันคุณภาพให้มีคุณภาพสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้อย่างทัดเทียม ด้วยการนำระบบคอมพิวเตอร์ เข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูล เพื่อความสะดวกในการสืบค้นและอ้างอิงข้อมูลด้านการประกันคุณภาพของแต่ละประเทศในกลุ่มสมาชิก อย่างไรก็ตามปัจจุบัน สหภาพยุโรปได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่อาเซียน ภายใต้โครงการชื่อ European Union Support to Higher Education in the ASEAN Region (EU-SHARE) ในปี 2558 ถึง2562 โดยจะให้ความช่วยเหลือในการถ่ายทอดประสบการณ์ของสหภาพยุโรปในการสร้างความกลมกลืนในระบบการอุดมศึกษา และการสร้างระบบประกันคุณภาพที่เทียบเคียงกันได้ในอาเซียน รวมทั้งระบบการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และการถ่ายโอนหน่วยกิต ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวสรุป