กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--กองประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
เมื่อเร็วๆ นี้ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) จัดประชุมสัมมนาในหัวข้อ "การขับเคลื่อน พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย" ไปสู่การปฏิบัติจริง ระดับภาค(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ณ โรงแรมสยามแกรนด์ อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งมีผู้แทนจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวน 490 คน
โดยการสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมทั้งกล่าวชี้แจงนโยบายและโครงสร้างการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย เพื่อให้คณะผู้แทนเกษตรกรและผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบ ด้านนายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้ว่า กยท. ได้กล่าวถึงการบทบาทและภาระหน้าที่ของ กยท. ที่กำลังเร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ราคายางในขณะนี้ พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ที่ให้ความเชื่อมั่นในหน่วยงาน กยท. ว่าจะสามารถช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรจนเกิดความเข้มแข็ง มั่นคง สามารถดำเนินธุรกิจยางพาราได้ด้วยตัวเกษตรกรเอง และตนขอยืนยันว่า ในนามของ กยท. เราจะมุ่งมั่นดำเนินการกำหนดแผนที่เป็นรูปธรรม และเร่งขับเคลื่อนองค์กรในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่ เพื่อให้ความหวังและความเชื่อมั่นของเกษตรกรบรรลุเป้าหมายในที่สุด
สำหรับ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสมัชชาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้พูดคุยกับผู้เข้าสัมมนาโดยเน้นย้ำในเรื่องของความร่วมมือและความสามัคคีในกลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อเป็นพลังเร่งขับเคลื่อนการปฏิรูปและแก้ไขปัญหาด้านยางพาราตามแนวทางที่กำหนดไว้ ด้านนายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยางภาคอีสาน และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย มีส่วนที่ดีกว่า พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจะช่วยให้ชาวสวนยางยืนได้ด้วยขาของตนเองและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้สูงขึ้น สามารถผลิตและเชื่อมต่อไปสู่การตลาดได้
สำหรับการประชุมภาคบ่าย นายปัณณวิชญ์ วงศ์สุวัฒน์ ผู้อำนวยการโครงการบริหารจัดการศูนย์เครือข่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านยางพาราครบวงจร ได้บรรยายในหัวข้อ "การขับเคลื่อน พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยไปสู่การปฏิบัติจริง" และให้ความรู้เกี่ยวกับมาตราต่างๆ ในกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นมาตรามีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรชาวสวนยาง จากนั้นได้แบ่งกลุ่มผู้แทนเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเป็นกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นต่อแนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย มาตรา 49 และโครงสร้างการบริหารงานของเกษตรกรสถาบันเกษตรกรฯ โดยนำผลการระดมความคิดเห็นมานำเสนอ และร่วมสรุปผลการประชุม เพื่อนำผลสรุปดังกล่าวไปเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องและมีทิศทางเดียวกัน.