กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย สั่งการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสาน 13 จังหวัดเสี่ยงได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก ของอิทธิพลพายุหว่ามก๋อเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม มุ่งเน้นการเฝ้าระวัง การแจ้งเตือนภัย และการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที พร้อมเร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ด้าน ปภ.จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานจังหวัดจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องจักรกลสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยง รวมถึงจัดเตรียมอุปกรณ์ระบายน้ำ เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับ กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชั่นหว่ามก๋อ ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้ภาคกลางและภาคตะวันออกยังคงมีฝนตกเป็นบริเวณกว้างและฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักของอิทธิพลพายุหว่ามก๋อ ได้มีข้อสั่งการเชิงนโยบายให้กระทรวงมหาดไทย บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และ ดินโคลนถล่ม มุ่งเน้นการเตรียมพร้อมรับมือ การเฝ้าระวัง และการแจ้งเตือนภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง ควบคู่กับการจัดเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยง เตรียมพร้อมออกปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย รวมถึงให้เร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อสร้างความมั่นใจในการดูแลความปลอดภัยของประชาชน อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสาน 13 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกที่จะได้รับผลกระทบจากพายุหว่ามก๋อ ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา นครสวรรค์ ลพบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยในช่วงวันที่ 16 – 18 กันยายน 2558 โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงทั้งดินโคลนถล่มบริเวณที่ลาดเชิงเขา และน้ำล้นตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อให้สามารถปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที รวมถึงจัดเตรียมอุปกรณ์ระบายน้ำป้องกันน้ำท่วม ทั้งเครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำระยะไกล เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทาง สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th