SEC: ข่าว ก.ล.ต.

ข่าวทั่วไป Monday August 16, 1999 17:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--16 ส.ค.--ก.ล.ต.
ฉบับที่ 14/2542
การปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นนายหน้า หรือตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียน
ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ในการประชุมครั้งที่ 7/2539 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2539 ได้มีมติให้ความเห็นชอบ การแก้ไขข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียน ซึ่งกำหนดให้มีการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมฯ เป็นอัตราต่อรองกันได้สำหรับลูกค้าบางประเภท โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมฯ มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปเพื่อพัฒนาไปสู่ระบบเจรจาต่อรองโดยเสรีในที่สุด นั้น
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 10/2542 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2542 พิจารณาเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมฯ ตามมติคณะกรรมการ ก.ล.ต. ดังกล่าว ได้มีผลใช้บังคับมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ประกอบกับจำนวนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์ในระบบ มีจำนวนลดลงค่อนข้างมาก จากจำนวน 83 บริษัท ในปี 2539 เป็นจำนวน 45 บริษัทในปัจจุบัน และสภาวการณ์การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นโดยปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ถัวเฉลี่ยระหว่างเดือน มกราคม - มิถุนายน 2542 มีจำนวนประมาณ 7,184.69 ล้านบาทต่อวัน ส่งผลให้บริษัทส่วนใหญ่ มีผลกำไรจากการดำเนินงาน โดยในช่วงระหว่างเดือน มกราคม - มิถุนายน 2542 บริษัทหลักทรัพย์ทั้งระบบมีผลกำไรรวมเท่ากับ 3,398 ล้านบาท ดังนั้น จึงมีมติเห็นชอบในหลักการที่จะนำเรื่องโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมฯ ขึ้นมาทบทวน อันจะเป็นการนำไปสู่การแข่งขันที่เป็นไปตามกลไกตลาดและสะท้อนถึงต้นทุนการให้บริการแก่ผู้ลงทุนแต่ละประเภทอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมฯ ดังกล่าวจะต้องมีการกำหนดแผนงานและระยะเวลาที่จะดำเนินการให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ปรับตัว และเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะมีการบังคับใช้โครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมฯ ใหม่ ซึ่งในการกำหนดแผนงานและระยะเวลาดังกล่าว ควรจะต้องหารือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อนด้วย
แนวทางการกำกับดูแลตัวแทนขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 10/2542 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2542 มีมติเห็นชอบหลักการในการกำกับดูแลตัวแทนขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตามที่สำนักงานเสนอ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะกำกับดูแลตัวแทนขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม (ตัวแทนฯ) อย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการขายหน่วยลงทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) หรือขายผ่านตัวแทนฯ เพื่อให้การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจจัดการกองทุนรวม โดยมีหลักการที่สำคัญสรุปได้ดังนี้
1. บุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ขายหน่วยลงทุนทุกราย ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน โดยกำหนดให้บุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ขายหน่วยลงทุน (ผู้ขายฯ) จะต้องมีวุฒิการศึกษาหรือมีประสบการณ์การทำงานขั้นต่ำ และผ่านการอบรมหลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อม ตามที่สำนักงานเห็นชอบ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ขายฯ จะมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ดีพอ นอกจากนี้ผู้บริหารของนิติบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนฯ จาก บลจ. (เช่น ผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์) ที่มีหน้าที่ และความรับผิดชอบ ในงานที่เกี่ยวข้องกับการขายหน่วยลงทุนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานด้วย
2. หน้าที่ขั้นต่ำของบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ขายหน่วยลงทุน กำหนดให้ผู้ขายฯ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ (code of conduct) ที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนกำหนด และต้องปฏิบัติตามหลักการให้คำแนะนำที่ดี และเหมาะสม (good advice) รวมทั้งกำหนดให้ผู้ขายฯ ต้องแจ้งสิทธิพื้นฐานของผู้ลงทุนต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (conflict of interests) และต้องทำความรู้จักผู้ลงทุน (know your customer) กรณีที่ต้องวางแผนการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน
3. ในกรณีที่ตัวแทนฯ เป็นฝ่ายติดต่อผู้ลงทุนเพื่อเสนอขายหน่วยลงทุน (cold call) จะกำหนดหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดเป็นพิเศษ โดยจะกำหนดนิยามการขายหน่วยลงทุนในลักษณะดังกล่าวให้ชัดเจน และอนุญาตให้ดำเนินการได้ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดเช่น กำหนดให้ทำได้เฉพาะในวันและเวลาทำการของบริษัทหลักทรัพย์ ต้องโทรศัพท์ไปนัดก่อน และห้ามตัวแทนฯ สร้างความกดดันแก่ ผู้ลงทุน (pressure sale) เป็นต้น อีกทั้งกำหนดให้ บลจ.จะต้องมีระบบควบคุมภายใน (compliance procedure) ที่สามารถตรวจสอบและติดตามการกระทำ cold call ของตัวแทนฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. การสร้างระบบการดำเนินการ กรณีผู้ลงทุนร้องเรียน เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถร้องเรียนได้ทั้งที่ บลจ. และสำนักงาน
4.1 กรณีที่ผู้ลงทุนร้องเรียนต่อ บลจ. โดยตรง บลจ. จะต้องรวบรวมข้อร้องเรียน และการดำเนินการเพื่อส่งให้สำนักงานเป็นรายไตรมาส โดยในแต่ละกรณีหากผลการแก้ไขปัญหาของ บลจ.ยังไม่เป็นที่พอใจของผู้ลงทุน บลจ.จะต้องแจ้งให้สำนักงานทราบโดยทันที
4.2 กรณีที่ผู้ลงทุนร้องเรียนต่อสำนักงานโดยตรง สำนักงานจะส่งเรื่องให้ บลจ. เป็นผู้ชี้แจงต่อผู้ลงทุนก่อน และให้ บลจ. รายงานผลการแก้ไขปัญหาให้สำนักงานทราบภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ บลจ.ได้รับเรื่องจากสำนักงาน
ทั้งนี้ หาก บลจ. ไม่สามารถแก้ไขปัญหา หรือชี้แจงให้ผู้ลงทุนพอใจได้สำนักงานจะดำเนินการตรวจสอบและสั่งการหรือดำเนินการตามความเหมาะสม
5. การกำหนดบทลงโทษทั้งในระดับนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา
5.1 กรณีนิติบุคคล (บลจ. และนิติบุคคลที่ บลจ. แต่งตั้งเป็นตัวแทนฯ)
- บลจ. อาจถูกลงโทษโดยการปรับ หรือการไม่พิจารณาคำขอจัดตั้งกองทุนรวมใหม่ หรือคำขอจดทะเบียนเพิ่มทุนของกองทุนรวม หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม เป็นต้น
- นิติบุคคลที่ บลจ. แต่งตั้งเป็นตัวแทนฯ ตามกฎหมายปัจจุบันยังไม่สามารถลงโทษนิติบุคคลนั้นได้โดยตรง แต่ บลจ.สามารถกำหนดความรับผิดชอบของนิติบุคคลที่ บลจ. แต่งตั้งเป็นตัวแทนฯ ไว้ในสัญญา เพื่อที่จะดำเนินการตามสัญญาได้
5.2 กรณีบุคคลธรรมดาที่ทำหน้าที่เป็นผู้ขายฯ (ซึ่งรวมถึงพนักงานขายของ บลจ. เอง พนักงานขายของนิติบุคคลที่ บลจ. แต่งตั้งเป็นตัวแทนฯ หรือพนักงานขายอิสระ) สำนักงานจะลงโทษโดยอาจตักเตือน สั่งพัก หรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบได้ หรือการเปิดเผยรายชื่อผู้ปฏิบัติฝ่าฝืนให้ผู้ลงทุนทราบ (public reprimand)
6. การประชาสัมพันธ์ ดำเนินการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลของสำนักงาน รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อาทิเช่น รายชื่อตัวแทนฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานรายชื่อบุคคลต้องห้าม (black list) เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบรองรับการร้องเรียนจากผู้ลงทุน และความรู้เกี่ยวกับสิทธิและผลประโยชน์ที่ผู้ลงทุนควรจะได้รับ เป็นต้น
ทั้งนี้ สำนักงานจะดำเนินการหารือในรายละเอียดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และพิจารณายกร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ต่อไป (ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ