กรุงเทพ--8 เม.ย.--ปตท.
นายสุวนันท์ ชาติอุดมพันธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ปตท. ก๊าซธรรมชาติ เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตาม และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้ม โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งยาดานา สหภาพพม่า ครั้งที่ 1/2541 ซึ่งมี นายดิเรก อุทัยผล ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2541 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นสำคัญๆ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างทั้งระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากข้อคิดเห็นของคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหากรณีท่อส่งก๊าซฯ ที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
นายสุวนันท์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้อนุมัติแผนปลูกป่าบริเวณใกล้แนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ประจำปี 2541 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ศกนี้ จำนวน 4,000 ไร่ จากแผนที่มีอยู่ทั้งหมด 10,000 ไร่ โดยที่เหลือจะเริ่มปลูกในปีหน้าซึ่งขณะนี้ เจ้าหน้าที่ประจำแปลงกำลังจัดเตรียมพื้นที่อยู่ รวมแปลงปลูกทั้งสิ้น 9 แปลงแบ่งเป็นที่ อ.ทองผาภูมิ 6 แปลง อ.ไทรโยค 3 แปลง โดยในหลักการจะส่งเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการปลูก และดูแลบำรุงรักษาร่วมกัน ส่วนแผนอนุรักษ์พื้นที่ป่า ซึ่งมีสภาพที่สามารถฟื้นตัวได้เองอีก 30,000 ไร่นั้น ส่วนใหญ่เป็นการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแล และป้องกันไฟป่า ประกอบด้วยหลายโครงการ และได้เริ่มทะยอยดำเนินการไปบ้างแล้ว อาทิ โครงการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า สำหรับมาตรการลดผลกระทบต่อช้างป่านั้น ดร.มัทนา ศรีกระจ่าง ผู้เชี่ยวชาญ ช้างป่า กรมป่าไม้ ได้เสนอว่าในระยะก่อสร้างนี้ เกรงปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างช้างกับชาวบ้าน ซึ่งได้แก้ไขโดยการจัดหน่วยเวรยามแล้ว ส่วนพื้นที่ก่อสร้างที่ขวางทางเดินมายังแหล่งโป่งอาหารนั้น ปตท. ได้เปิดทางให้ในช่วงกลางคืน แต่ในระยะยาวหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ ที่ประชุมได้เสนอให้ ปตท.สนับสนุนงบประมาณ เพื่อดำเนินการใน 3 เรื่องหลัก คือ ปรับปรุงแหล่งอาศัยด้วยการช่วยปลูกอาหารช้าง เช่น กล้วยป่า ตั้งหน่วยป้องกันไม่ให้คนบุกรุกเข้าไปล่าช้างป่าและสัตว์ป่า จัดโครงการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ช้างป่า รวมถึงสัตว์ป่าอื่นๆ ด้วย ซึ่งปตท.ได้รับมาปรับให้เข้ากับแผนที่มีอยู่แล้วต่อไป
สำหรับมาตรการ ป้องกันการอาศัยแนวท่อบุกรุกพื้นที่ป่า ในช่วงที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งจะต้องรอเวลาในการปรับสภาพพื้นที่ก่อสร้างสู่สภาพเดิม ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ป่า ขึ้น2 จุด โดยปตท.เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณเบื้องต้น ซึ่งได้กำหนดจุดไว้ 2 แห่ง คือ บริเวณบ้านห้วยปากคอก และเหมืองสัตตมิตร ซึ่งเป็นจุดหัวท้ายที่จะเข้าสู่พื้นที่ป่า
นายสุวนันท์ กล่าวด้วยว่า ประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายห่วงอีกประเด็นหนึ่ง คือการปรับสภาพพื้นที่ก่อสร้างให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ปตท.ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงวิธีการปรับสภาพพื้นที่ที่มีแผนไว้อย่างชัดเจนว่า ก่อนการก่อสร้างได้มีการสำรวจจัดทำแบบระดับสภาพภูมิประเทศตามที่แนวท่อพาดผ่าน(Terrain Profile) เมื่อก่อสร้างและฝังกลบท่อแล้ว ผู้รับเหมาจะต้องดำเนินการปรับสภาพให้เหมือนเดิมทุกอย่าง โดยปตท.จะรับมอบงานจากผู้รับเหมาต่อเมื่อมีใบเซ็นรับรอง จากเจ้าของพื้นที่แต่ละช่วงที่ยอมรับว่าสภาพเหมือนเดิมแล้ว เช่น ถ้าเป็นพื้นที่ทำกิน ผู้รับเหมาจะต้องมีใบเซ็นรับรองจากเจ้าของที่ว่าสามารถปลูกพืชไร่ได้ตามเดิมแล้ว เป็นต้น ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มปลูกพืชไร่บนหลังแนวท่อแล้ว
อนึ่ง เกี่ยวกับความเดือดร้อนของราษฎรที่เกิดจากการก่อสร้างนั้น ขณะนี้สามารถเจรจา และจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรมแล้วทุกราย ยกเว้นการเรียกร้องเกี่ยวกับค่าความกลัว ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจกฎระเบียบที่มีอยู่
ทั้งนี้ ในการประชุมฯ ได้มีผู้แทนจากมูลนิธิเพื่อนช้าง โดยคุณโซไรดา ชวาลา เลขาธิการมูลนิธิ และคณะได้ให้ความช่วยเหลือ โดยนำผลการศึกษาช้างป่าของมูลนิธิมารายงานสรุปโดยย่อ ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ จำนวน และเส้นทางเดินช้าง รวมถึงผลกระทบช่วงก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลของกรมป่าไม้ นับเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ในโครงการอนุรักษ์ช้างอย่างเป็นรูปธรรมได้ต่อไป นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังให้ข้อสังเกตว่า ในแผนปลูกป่าของ ปตท.นั้น ขอให้ระมัดระวังการอย่างทำลายลูกไม้เดิม ซึ่งจะใช้เป็นอาหารของช้างได้บ้าง ระหว่างที่การฟื้นฟูสภาพป่ายังไม่เหมือนเดิม--จบ--