ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารกสิกรไทย

ข่าวทั่วไป Thursday June 30, 2005 14:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัทจัดอันดับเครดิตข้ามชาติ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารกสิกรไทย ที่ระดับ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ ในขณะเดียวกัน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของธนาคารที่ระดับ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha))
อันดับเครดิตของธนาคารกสิกรไทยสะท้อนให้เห็นถึงผลกำไรที่ดีขึ้น คุณภาพสินทรัพย์ ฐานะเงินกองทุนและเครือข่ายการให้บริการภายในประเทศที่ครอบคลุมอย่างทั่วถึงในตลาดระดับกลาง รวมถึงธุรกิจของธนาคารในภาคธุรกิจและรายย่อยที่แข็งแกร่ง และการบริหารการจัดการที่ดีของกลุ่มผู้บริหารของธนาคาร รายได้ของธนาคารได้แสดงให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้น โดยปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 ได้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความเป็นไปได้ในระดับสูงที่ทางธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเนื่องมาจากความสำคัญของธนาคารที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารมีเสถียรภาพ ได้พิจารณาถึงการที่ธนาคารน่าจะสามารถรักษาผลกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ไว้ในระดับเดิมได้ แม้ว่าแนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2548 จะอ่อนแอลง อันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทยขณะนี้ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของประเทศไทย การปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องในอนาคต รวมทั้งการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจและระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย ซึ่งรวมถึงโครงสร้างการกำกับดูแลและโครงสร้างทางกฎหมาย เป็นสิ่งจำเป็นที่จะสนับสนุนการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของอันดับเครดิตของธนาคารในอนาคต
ธนาคารกสิกรไทยได้ดำเนินแผนการปฏิรูปและการพัฒนาองค์กรต่างๆ ตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 โดยมีจุดประสงค์ที่จะฟื้นฟูผลกำไรของธนาคาร การปฎิรูปเหล่านี้ รวมไปถึงการลดต้นทุน การจัดการด้านสาขา การเพิ่มความแข็งแกร่งในการบริหารความเสี่ยง การเพิ่มความแข็งแกร่งและความสามารถในการจัดการของผู้บริหารระดับกลางและระดับสูง รวมไปถึงการให้ความสำคัญในด้านธุรกิจสำหรับลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็กเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้มีการกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้น การปฏิรูปและการพัฒนาองค์กรต่างๆดังกล่าว ได้เริ่มส่งผลและช่วยสนับสนุนผลกำไรของธนาคาร
ธนาคารรายงานผลกำไรสุทธิที่แข็งแกร่งขึ้นในปี 2547 เนื่องมาจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของต้นทุนการปล่อยสินเชื่อ สืบเนื่องมาจากการที่ธนาคารไถ่ถอนหุ้นกู้ควบหุ้นบุริมสิทธิ รวมทั้งอัตราการเติบโตของการให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และรายได้ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น ปัจจัยข้างต้นส่งผลให้อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยอยู่ที่ระดับ 3.2% ในปี 2547 จาก 2.5% ในปีก่อนหน้า ในไตรมาสแรกของปี 2548 กำไรสุทธิลดลงมาที่ระดับ 3.8 พันล้านบาท จาก 4.4 พันล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2547 เนื่องมาจากรายจ่ายทางด้านภาษีที่สูงขึ้นหลังจากผลประโยชน์ทางด้านภาษีได้ถูกใช้หมดไป อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของไตรมาสแรกของปี 2548 ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 3.4%
ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารกสิกรไทยลดลงมาอยู่ที่ 11.7% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2548 จากระดับสูงสุดในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ประมาณ 50% ในขณะเดียวกัน ระดับการกันสำรองหนี้สูญได้ลดลงมาอยู่ที่ 40.8 พันล้านบาท หรือเท่ากับ 58.9% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องมาจากการตัดหนี้สูญ ธนาคารกสิกรไทยได้ทำการไถ่ถอนหุ้นกู้ควบหุ้นบุริมสิทธิ ในเดือนมกราคม ปี 2547 โดยผลกำไรที่สูงขึ้นได้ช่วยลดผลกระทบต่อเงินกองทุนของธนาคาร ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2548 ธนาคารกสิกรไทยมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 7.9% และเงินกองทุนทั้งหมดอยู่ที่ 13.1% แม้ว่าการเติบโตของรายได้ของธนาคารกสิกรไทยน่าจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของฐานะเงินกองทุน อัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูงขึ้นและการเจริญเติบโตของสินทรัพย์อาจลดทอนผลบวกของการเติบโตของรายได้ต่อฐานะเงินกองทุนของธนาคาร
ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลล่ำซำ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านเงินฝากและเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 13% กลุ่มล่ำซำยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของธนาคาร ถึงแม้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540
การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กสิกรไทย จำกัด ซึ่งถือหุ้น 71.4% โดยธนาคารกสิกรไทย ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ท่านสามารถหาได้จาก www.fitchratings.com รวมทั้ง อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต และนโยบายที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวไว้ตลอดเวลา เอกสารนี้จะปรากฎอยู่บนเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ