กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--PwC ประเทศไทย
PwC เผยผลสำรวจปัจจัยเสี่ยงธุรกิจประกันภัยประจำปี 2558 พบกฎระเบียบที่เข้มงวดมากเกินไป-ความไม่แน่นอนของ ศก. และอัตราดอกเบี้ยขาลง เป็นปัจจัยเสี่ยงสามอันดับแรกที่ผู้ประกอบการทั่วโลกห่วงกระทบการดำเนินธุรกิจประกันภัยมากที่สุดใน 2-3 ปีข้างหน้า ชี้ภัยไซเบอร์ ขึ้นแท่นปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่ต้องระวัง หลังเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจ แนะผู้ประกอบการต้องปรับตัว บริหารความเสี่ยงให้แม่น หาจุดต่าง และสร้างจุดเด่นให้เหนือคู่แข่ง
นาง อโนทัย ลีกิจวัฒนะ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี และหัวหน้าสายงานธุรกิจประกันภัย บริษัท PwC (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงผลสำรวจ Insurance Banana Skins 2015 ที่ทาง PwC ทำร่วมกับ The Centre for the Study of Financial Innovation (CSFI) โดยทำการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัยจำนวนกว่า 800 รายใน 54 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ว่า การออกกฎระเบียบข้อบังคับที่มากเกินไป (Regulation) ความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจมหาภาค (Macro-economy) และอัตราดอกเบี้ย (Interest rates) เป็นปัจจัยเสี่ยง 3 อันดับแรกที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจประกันภัยมากที่สุดในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้
"การออกกฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานกำกับที่เข้มงวดมากเกินไป ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมประกันภัยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ทำการสำรวจ แม้ว่ากฎระเบียบข้อบังคับจะมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อภาพรวม แต่ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบบ่อยครั้งเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุน และทำให้การดำเนินธุรกิจสะดุดได้"
ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่า การออกกฎระเบียบข้อบังคับใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการชำระหนี้ (Solvency) ซึ่งหมายรวมถึง กรอบกำกับเงินกองทุนธุรกิจประกันภัย และพฤติกรรมการปฏิบัติงานของบุคลากรในอุตสาหกรรม (Market Conduct) ได้สร้างแรงกดดันให้ผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับความยุ่งยากซับซ้อนในการต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance) แล้ว ยังสร้างความสับสนให้ฝ่ายบริหาร แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างผลกำไรให้ธุรกิจในช่วงที่อุตสาหกรรมกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง
นาง อโนทัย กล่าวต่อว่า ตัวอย่าง กรอบกำกับเงินกองทุนของประเทศยุโรป หรือ Solvency II ที่จะมีผลบังคับใช้กับบริษัทประกันภัยที่อยู่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรืออียู ในปี 2559 นั้นได้สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการมากที่สุด แม้มีหลายๆ ประเทศเริ่มใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันบ้างแล้ว โดยยึดกรอบของ Solvency II เป็นแนวทางปฏิบัติ
"กฎระเบียบถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ขณะเดียวกันความเข้มงวดที่มากเกินไป ก็เหมือนการบีบบังคับให้ผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ แทนที่จะไปมุ่งเน้นทำธุรกิจหลักมากกว่า ซึ่งบุคคลทั้งในและนอกวงการต่างเห็นพ้องต้องกันในประเด็นนี้"
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจมหภาค (Macro-economy) กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่ 2 ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 3 เมื่อคราวก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่แน่ใจต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ตามมาด้วยอัตราดอกเบี้ย (Interest rates) ที่ยังอยู่ในช่วงขาลงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงถัดมาที่กดดันผลตอบแทนการลงทุน ทำให้บริษัทประกันขายผลิตภัณฑ์ได้ยากขึ้น
นาย เดวิด ลาสเซลเลส ผู้จัดทำผลสำรวจนี้กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมประกันภัยกำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ยากลำบาก และอุปสรรคจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอุตสาหกรรม ทั้งหมดสะท้อนออกมาเป็นมุมมองเชิงลบ อย่างที่เห็นจากผลสำรวจในปีนี้
ด้าน นาย สตีเฟ่น โอเฮิร์น หัวหน้าสายงานธุรกิจประกันภัย PwC โกลบอล กล่าวว่า แนวโน้มระยะยาวของธุรกิจนี้ยังคงเป็นบวก เพราะประชากรโลกมีอายุยืนยาวและมีความมั่งคั่งมากขึ้น แต่ความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญ คือ ผลกระทบจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึง กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงดั้งเดิม และความเสี่ยงใหม่ๆ ให้ได้ ซึ่งจุดนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความแตกต่างที่จะนำไปสู่ความสำเร็จท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน
"ภัยไซเบอร์" ความเสี่ยงใหม่ของธุรกิจประกัน
นาง อโนทัย กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจของผลสำรวจครั้งนี้ คือ ภัยคุกคามจากไซเบอร์ (Cyber risk) ขยับขึ้นมาเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่ 4 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มทำผลสำรวจเมื่อปี 2550 สาเหตุหลักมาจากการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล การส่งมอบสินค้าประกันออนไลน์ การจัดการข้อมูล และอื่นๆ ทำให้ปัญหาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และการรักษาความปลอดภัยขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา
"ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจารกรรมข้อมูล หรือข้อมูลมีการรั่วไหล หรือถูกแฮกเกอร์เข้ามาล้วงข้อมูล ไปจนถึงการทำงานผิดพลาดของซอฟแวร์ เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีต โดยปัจจุบันบริษัทประกันภัยตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การเพิ่มมาตรการควบคุมดูแลและจัดการความเสี่ยง กลายเป็นภารกิจสำคัญของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้"
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า การขาดแคลนบุคลากรที่มีประสบการณ์และความสามารถสูง (Talent) กลับเป็น 1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคนี้ เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานที่เพิ่มขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรงจะยิ่งทำให้การเฟ้นหาและรักษาคนเก่งเป็นเรื่องยากกว่าในอดีต
อย่างไรก็ดี แม้ในการสำรวจปีนี้จะพบความเสี่ยงใหม่ๆ แต่ก็มีความเสี่ยงบางประการที่มีผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง อาทิ คุณภาพในการบริหารจัดการ (Quality of Management) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate governance) ของบรรดาบริษัทประกันภัยที่มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมากจากในอดีตที่ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ เป็น 1 ใน 5 ความเสี่ยงอันดับต้นๆของอุตสาหกรรม รวมไปถึง ความเสี่ยงด้านภาพลักษณ์และชื่อเสี่ยง (Reputation) ก็ลดลงเช่นกัน หลังจากที่บริษัทประกันภัยหันมาให้ความสำคัญกับงานสื่อสารองค์กรมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การเติบโตของสังคมออนไลน์กำลังกลายเป็นภัยคุกคามของการบริหารภาพลักษณ์และชื่อเสี่ยงองค์กรที่ต้องระวังเช่นกัน
"อุตสาหกรรมประกันภัยในประเทศไทยไม่สามารถเพิกเฉยต่อปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้เช่นกัน โดยเรามองว่า นอกจากอุตสาหกรรมจะต้องรักษาความเป็นมืออาชีพและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องพร้อมปรับตัวและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่โลกกำลังเผชิญอยู่" นาง อโนทัย กล่าวทิ้งท้าย