กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
เดินหน้ารณรงค์อย่างต่อเนื่องสำหรับ โครงการรณรงค์ เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจหยุดใช้ความรุนแรง โดย ยูนิเซฟร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อมุ่งเน้นให้พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงผลกระทบของความรุนแรงที่มีต่อเด็ก ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม และหยุดใช้ความรุนแรงต่อเด็กในทุกกรณี ล่าสุดยูนิเซฟได้เผยแพร่วิดีโอคลิป เพื่อส่งเสริมแนวคิด "เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ หยุดใช้ความรุนแรง" พร้อมแนะนำวิธีเลี้ยงดูเด็กแบบถูกวิธีด้วยการเสริมสร้างวินัยเชิงบวก ชื่อคลิป "คุณกำลังทำร้ายหัวใจลูกรักอย่างรุนแรงอยู่หรือไม่?" ความยาว 6 นาที พร้อมคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง "หนูดี" วานิษา เรซ ซึ่งได้ให้คำยืนยันว่า "มนุษย์ทุกช่วงวัย สามารถใช้เหตุผลได้"
สำหรับ แนวทางการเสริมสร้างวินัยเชิงบวก ยูนิเซฟได้เผยเคล็ดลับวิธีที่จำง่ายๆ 4 ข้อ ที่เรียกว่า CUTE ได้แก่ Confidence=ให้ความมั่นใจ Understanding=ให้ความเข้าใจ Trust=ให้ความไว้ใจ และ Empathy=ให้ความเห็นใจ
1. Confidence ให้ความมั่นใจ เปลี่ยนจากการใช้วิธี "จับผิด" มองหาแต่ส่วนบกพร่องมาเป็น "จับถูก" มองหาสิ่งดี เมื่อเห็นลูกทำได้ดีก็แสดงความชื่นชม เมื่อลูกผิดพลาดก็ให้กำลังใจ ไม่ซ้ำเติม เด็กจะมั่นใจและภูมิใจใน ตัวเองมากขึ้น
2. Understanding ให้ความเข้าใจ พยายามเข้าใจสถานการณ์จากมุมมองของลูก และหาวิธีต่อรองกับลูกโดยไม่บังคับ เช่น หากลูกวัยรุ่นกลับบ้านดึกเกินเวลา แทนที่จะดุด่าโมโห อาจแสดงให้รู้ว่าพ่อแม่เป็นห่วง ขอฟังเหตุผล แสดงความเข้าใจแล้วช่วยลูกคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะไม่มีปัญหาแบบนี้อีก
3. Trust ให้ความไว้ใจ ไม่ตัดสินใจแทนลูกตลอดเวลา แต่ช่วยให้ลูกคิดหาทางเลือกต่างๆ ในการแก้ปัญหาอย่างฉลาด รวมถึงเปิดโอกาสให้ลูกได้ตัดสินใจทำในสิ่งที่เขาอยากทำบางเรื่อง เพื่อให้เขาได้เติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง
4. Empathy ให้ความเห็นใจ รู้จักเข้าใจถึงความคิดและความรู้สึกของลูก ลองมองสถานการณ์จากมุมมอง ของลูก เพราะเด็กทุกคนก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีความคิดและความรู้สึกเหมือนคนทั่วไป เราจึงควรปฏิบัติต่อเขาอย่างให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีของลูก เสมือนเขาคือผู้ใหญ่คนหนึ่งเช่นกัน
นอกจากนี้ ความรุนแรง 4 ประเภท ที่พ่อแม่อาจคาดไม่ถึงว่าเป็นความรุนแรง ที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก ได้แก่
1. ความรุนแรงทางร่างกาย หมายถึง การลงโทษและการทรมานในรูปแบบต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือไม่สบายต่อร่างกายเด็ก แม้จะเป็นการลงโทษระดับเบาก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการตบหรือตีด้วยมือ หรือใช้อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ไม้เรียว เข็มขัด รองเท้า แส้ หรือการเตะ หรือการกระทำอื่นๆ เช่น เขย่าตัว ผลักหรือโยนเด็ก ข่วน หยิก กัด ดึงผม บิดหู เผา ใช้น้ำร้อนลวก รวมถึงการกลั่นแกล้งกันระหว่างเด็กรุ่นเดียวกันเองและผู้ใหญ่กว่า
2. ความรุนแรงทางเพศ หมายถึง การเกี่ยวข้องกับเด็กในกิจกรรมทางเพศ ซึ่งเด็กไม่สามารถเข้าใจได้เต็มที่ หรือไม่สามารถให้ความยินยอมได้ เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ หรือระหว่างเด็กด้วยกัน เช่น การข่มขืน การล่วงล้ำทางอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือการร่วมเพศทางปาก การกอดจูบลูบไล้ร่างกาย การสำเร็จความใคร่ การให้เด็กรับรู้ในสิ่งไม่บังควรทางเพศ หรือการให้ดูหรือมีส่วนร่วมในการผลิตสื่อลามก
3. ความรุนแรงทางอารมณ์และจิตใจ หมายถึง การตอบสนองต่ออารมณ์ของเด็กอย่างไม่เหมาะสม เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อพัฒนาการเด็ก ซึ่งมีผลทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงและต่อเนื่องต่อพัฒนาการของเด็ก เช่น การตวาด ตะคอกอย่างรุนแรง การตอกย้ำว่าเด็กไม่มีคุณค่า การดูถูกเหยียดหยาม เยาะเย้ย เปรียบเทียบในลักษณะดูถูก ทำให้อับอาย การข่มขู่ ความรู้สึกและการทอดทิ้งไม่เอาใจใส่
4. การละเลยทอดทิ้ง หมายถึง การไม่ดูแลเอาใจใส่ต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐานแก่เด็ก ทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ การไม่ให้การคุ้มครองเด็กจากอันตรายหรือไม่ให้การรักษาพยาบาล
ทั้งนี้ จากรายงานของยูนิเซฟ พบว่า เด็กที่ถูกกระทำรุนแรงมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ทั้งมีอาการวิตกกังวลเสียใจ เสียความภูมิใจในคุณค่าของตนเอง สิ้นหวัง จนอาจมีอาการซึมเศร้า หรือร้ายแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ ยังมักมีปัญหาในการปรับตัวด้านการเรียนและการเข้าสังคม มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ตลอดจนเสี่ยงต่อการเป็นผู้กระทำรุนแรงเสียเองในอนาคต**
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถรับชมคลิปวิดีโอ "คุณกำลังทำร้ายหัวใจลูกรักอย่างรุนแรงอยู่หรือไม่?" http://youtu.be/CszdSPsV5h0 พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันยุติความรุนแรงต่อเด็กทุกรูปแบบ ได้ที่เว็บไซต์ www.endviolencethailand.org และทางโซเชียลมีเดียพร้อมแฮชแทก #ENDviolence
** จากรายงานขององค์การยูนิเซฟเรื่อง "การเลี้ยงดูโดยมิชอบต่อเด็ก (Child Maltreatment: Prevalence, Incidence and Consequences in East Asia and Pacific), 2012