กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--ไอแอมพีอาร์
มิวเซียมสยามจับมือ 4 เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ จัดกิจกรรม Museum Family ย้อนรอยเส้นทางทวารวดี ภาค 2 ยกขบวนแฟนพันธุ์แท้มิวเซียมตะลุย 3 จังหวัด นครปฐม, กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี ร่วมสืบค้นร่องรอยทวารวดี วัฒนธรรมสมัยแรกสุดเมื่อประเทศไทยก้าวสู่ยุคประวัติศาสตร์ สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อในยุคอรุณรุ่งแห่งอารยธรรมของสยามประเทศ ซึ่งกลายเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทยในยุคปัจจุบัน
นางสาวไพรินทร์ มณีทิพย์ นักจัดการความรู้มิวเซียมสยาม กล่าวว่า กิจกรรมย้อนรอยเส้นทางทวารวดี จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจวิถีท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ได้ร่วมย้อนเวลาค้นหาอดีตกว่า 1,100 ปีที่ผ่านมาของยุคทวารวดีผ่าน 4 เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงกับยุคทวารวดีในแต่ละสมัย ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า, อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
"ลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของวัฒนธรรมทวารวดีทั้งด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม วิถีชีวิต ศาสนา ความเชื่อและความคิดสร้างสรรค์ ปรากฎอยู่ในหลักฐานด้านโบราณคดีที่ค้นพบในประเทศไทยจำนวนมาก โดยได้รับการเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ไทยหลายแห่งทั่วประเทศ โดยกิจกรรมครั้งนี้จะช่วยร้อยเรียงเรื่องราวในยุคสมัยทวารวดีให้เกิดเป็นภาพที่ชัดเจน สร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้สนใจมากยิ่งขึ้น" นักจัดการความรู้มิวเซียมสยามอธิบาย
วัฒนธรรมทวารวดีเป็นวัฒนธรรมสมัยแรกสุด เมื่อดินแดนสุวรรณภูมิก้าวเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ ที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากอินเดีย โดยเชื่อกันว่าอาจมี "จุดเริ่มต้น" อยู่ที่เมืองนครปฐมโบราณ พิสูจน์ได้จากโบราณวัตถุเก่าแก่ที่เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ แต่กลับเป็นที่น่าสังเกตว่า "ศูนย์กลาง" ของวัฒนธรรมอาจอยู่ที่เมืองโบราณอู่ทองซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก และปรากฎหลักฐานการ "เสื่อมถอย" ของวัฒนธรรมทวารวดีที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่าและอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี โดยกลายเป็นวัฒนธรรมแบบเขมรขยายเข้ามาแทนที่
ด้าน นางเด่นดาว ศิลปานนท์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง เปิดเผยว่า จากหลักฐานด้านโบราณคดีที่ค้นพบในจังหวัดสุพรรณบุรี แสดงให้เห็นว่าศูนย์กลางของวัฒนธรรมทวารวดีอยู่ที่เมืองโบราณอู่ทองและเป็นจุดที่พระพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
"ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ คนไทยจึงควรเรียนรู้รากเหง้าของตนเองให้ลึกซึ้ง โดยเฉพาะประวัติความเป็นมาของศาสนาพุทธ สิ่งที่สะท้อนว่าวัฒนธรรมยุคทวารวดียังฝังลึกอยู่ในจิตใจของคนไทย คือประเพณีที่นิยมประพฤติปฏิบัติในวันสำคัญทางทางศาสนา หรือแม้แต่เรื่องใกล้ตัวอย่างการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง ก็มีหลักฐานด้านโบราณคดีที่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อ 1,500 ปีก่อนมีการขุดบ่อเก็บน้ำเช่นกัน องค์ความรู้เหล่านี้คือบทเรียนที่ถ่ายทอดต่อกันมา เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวพันอยู่ในสายเลือด อดีตจึงเป็นบทเรียนที่คนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ เพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และพิพิธภัณฑ์ไทยคือศูนย์รวมอดีตอันเป็นมรดกล้ำค่าที่ทุกคนสามารถเข้าไปสืบค้นความเป็นคนไทยได้อย่างถูกต้อง" หัวหน้าพิพิธฑสถานแห่งชาติอู่ทองกล่าว
กิจกรรมย้อนรอยเส้นทางทวารวดีภาค 2 เป็นการเปิดมุมมองใหม่ด้านการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจและสนุกสนาน โดยการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ ในการออกแบบกิจกรรมเรียนรู้ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น ช่วยให้การเรียนรู้เรื่องราวด้านประวัติศาสตร์มีความสนุกเพลิดเพลินและจุดประกายต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง.