กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--ไอแอมพีอาร์
มิวเซียมสยาม ร่วมกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี จัดกิจกรรม Museum Family ตอน ของดีเมืองสุพรรณ ภาค 1 เปิดเวทีเสวนา "อดีต ปัจจุบัน อนาคตของวรรณคดีขุนช้างขุนแผน" ชวนผู้กำกับ คอลัมนิสต์ร่วมตีความตัวละครเก่าสะท้อนต้นทุนทางวัฒนธรรมประจำถิ่น สู่การสร้างบทเรียนทางความคิดพร้อมสะท้อนการดำเนินชีวิตสู่คนรุ่นใหม่
ดร.ศุภกร ปุญญฤทธิ์ ที่ปรึกษา มิวเซียมสยาม เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรม Museum Family ตอน ของดีเมืองสุพรรณ ภาค 1 เป็นการสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ เพื่อช่วยกันออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้เหมาะสมและตรงความต้องการของคนรุ่นใหม่ ซึ่งวรรณคดีขุนช้างขุนแผนถือเป็นของดีประจำจังหวัดสุพรรณบุรี เพราะในเนื้อหาแฝงไว้ด้วยคติสอนใจที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ทุกยุคสมัย การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ ได้เห็นถึงความสำคัญมรดกพื้นบ้านของตนเอง เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากกิจกรรมที่สนุกสนานแต่แฝงด้วยความรู้ เกิดความภาคภูมิใจ และแรงบันดาลใจในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ โดยหยิบยกประเด็นด้านวรรณกรรม เพลงพื้นบ้าน เพลงลูกทุ่ง ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งมานำเสนอ ผ่านการสาธิต การแสดง และการเสวนาในประเด็นต่างๆ
การเสวนาในหัวข้อ "อดีต ปัจจุบัน อนาคตของวรรณคดีขุนช้างขุนแผน" ได้รับเกียรติจากนายนิวัติ กองเพียร คอลัมนิสต์ชื่อดัง และ นายประดิษฐ ปราสาททอง เจ้าของรางวัลศิลปินศิลปาธรปี 2547 ร่วมตีแผ่วรรณคดีในมุมมองที่แปลกใหม่ อาทิ เรื่องราวฉากรักของตัวละคร และพฤติกรรมชวนคิดของตัวละครที่สะท้อนถึงทัศตคติของคนรุ่นเก่า
นายนิวัติ กองเพียร คอลัมนิสต์ผู้ประพันธ์หนังสือฉากรักในวรรณกรรม อธิบายว่า เนื้อหาในเรื่องขุนช้างขุนแผนที่คนจดจำได้มากที่สุดคือ ความเจ้าชู้และมีเสน่ห์ของขุนแผน ซึ่งหากตีความและคิดตามอย่างลึกซึ้ง จะเห็นคำสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่สอดแทรกอยู่ในราวอันดุเด็ดเผ็ดมัน ทั้งเรื่องการครองตนให้อยู่ในศีลธรรม การทำความดีละเว้นความชั่ว รวมถึงการดูแลซึ่งกันและกันของคนในครอบครัว
"วิธีสอนเด็กของคนโบราณจะสร้างเป็นนิทานแล้วเล่าให้ฟัง อย่างเพลงกล่อมลูกหรือบทเสภา โดยจะเขียนขึ้นด้วยภาษาที่งดงาม และสื่อความหมายถึงสิ่งที่ต้องการจะสอน ซึ่งนิทานหรือวรรณคดีต่างๆ ได้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติ วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และประวัติศาสตร์ของคนในแต่ละยุคสมัย เรื่องเล่าอันงดงามเหล่านี้จึงเป็นมรดกตกทอดอันล้ำค่าที่คนรุ่นใหม่จะใช้เรียนรู้รากเหง้าของตนเอง และยังเป็นต้นทุนทางความคิดซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป"
ด้าน นายประดิษฐ ประสาททอง ศิลปินศิลปาธรปี 2547 กล่าวว่า คนไทยควรอ่านวรรณคดีไทยด้วยความสนุกสนานและตีความแตกประเด็น โดยการตั้งคำถามเปรียบเทียบเหตุการณ์กับยุคสมัยปัจจุบัน เช่น ตัวละครตัวหนึ่งพูดโกหกเพื่อให้มารดาที่กระทำผิดมีชีวิตรอด ในมุมหนึ่งอาจมองว่าเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงความกตัญญู แต่ในอีกมุมหนึ่งคือการปกป้องคนผิดให้พ้นจากบทลงโทษ การตีความต่อยอดเหล่านี้จะช่วยให้เกิดประโยชน์ในเชิงสติปัญญา วิธีคิด มุมมอง ทัศนคติ จริยธรรม และการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของคนในสังคม ท่ามกลางความหลากหลายทางความคิด
"คนรุ่นใหม่ต้องสามารถนำมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดมาจากอดีตกลับมารับใช้สังคมปัจจุบันได้ เพราะภายใต้เรื่องราวและเหตุการณ์เดียวกัน อาจมีประโยชน์แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย แต่ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความคิด ทัศนคติและวิถีชีวิตของคนในสังคมยุคนั้นๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน จึงไม่ต่างจากบทเรียนที่สร้างจากเหตุการณ์จริง ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือชี้นำการดำเนินชีวิตให้ไปสู่หนทางที่มีความสุขได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต" นายประดิษฐกล่าวปิดท้าย.