กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17 – 18 กันยายน 2558 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,255 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 ตามสูตร 6-4-6-4 (6 เดือนแรก ร่างรัฐธรรมนูญ ส่วน 4 เดือนต่อมา เป็นการทำประชามติ อีก 6 เดือนต่อมาร่างกฎหมายลูก หรือ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ และอีก 4 เดือน ใช้สำหรับรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง รวมระยะเวลาแล้ว 20 เดือน) การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 0.8
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 และเตรียมตัวสู่การเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.91 ระบุว่า ไม่ควรกำหนดเวลาการร่างรัฐธรรมนูญแต่ให้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองว่าพร้อมเลือกตั้งหรือยัง รองลงมา ร้อยละ 26.37 ระบุว่า เห็นด้วยกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญน้อยกว่า 20 เดือน (ให้มีการเลือกตั้งประมาณ ต้นปี 2560) ร้อยละ 22.15 ระบุว่า ควรนำรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 มาประกาศใช้แล้วจัดการเลือกตั้งได้เลย ร้อยละ 12.91 ระบุว่า เห็นด้วยกับสูตร "6-4-6-4" รวมระยะเวลา 20 เดือน (ให้มีการเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2560) ร้อยละ 0.80 ระบุอื่นๆ ได้แก่ ไม่ควรเกิน 1 - 2 ปี หรือเร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ อยู่ที่การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ขณะที่บางส่วน ระบุว่า ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง และร้อยละ 4.86 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อทางออกที่เหมาะสม หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนในการทำประชามติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.11 ระบุว่า ควรนำรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 หรือทั้ง 2 มาปรับปรุงโดยด่วนและประกาศใช้ รองลงมา ร้อยละ 27.89 ระบุว่า เริ่มกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและลงประชามติใหม่อีกครั้ง ร้อยละ 5.90 ระบุว่า ควรนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาประกาศใช้ ร้อยละ 3.74 ระบุว่า ควรนำรัฐธรรมนูญปี 2550 มาประกาศใช้ ร้อยละ 0.40 ระบุว่า ใช้รัฐธรรมนูญแบบใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี และร้อยละ 9.96 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.84 มีภูมิลำเนาอยู่ กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.34 มีภูมิลำเนาอยู่ ภาคกลาง ร้อยละ 18.09 มีภูมิลำเนาอยู่ ภาคเหนือ ร้อยละ 33.71 มีภูมิลำเนาอยู่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ร้อยละ 14.02 มีภูมิลำเนาอยู่ ภาคใต้ ร้อยละ 56.10 เป็นเพศชาย ร้อยละ 43.82 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 6.37 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 15.94 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.46 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 38.88 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 13.15 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.20 ไม่ระบุอายุ
ตัวอย่างร้อยละ 94.98 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.11 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.56 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และ ร้อยละ 1.35 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 20.08 สถานภาพโสด ร้อยละ 76.49 สถานภาพสมรส ร้อยละ 2.07 สถานภาพหม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.35 ไม่ระบุสถานภาพ ตัวอย่างร้อยละ 31.71 ระบุว่าจบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 26.61 ระบุว่า จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.97 ระบุว่าจบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.74 ระบุว่าจบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.29 ระบุว่าจบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.67 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 14.42 ประกอบอาชีพ ข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.66 ประกอบอาชีพ พนักงานเอกชน ร้อยละ 23.82 ประกอบอาชีพ เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 17.13 ประกอบอาชีพ เกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.55 ประกอบอาชีพ รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 12.35 ประกอบอาชีพ พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.39 ประกอบอาชีพ นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.16 ประกอบอาชีพ องค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 1.51 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 13.47 ระบุว่าไม่มีรายได้ ร้อยละ 21.91 มีรายได้ไม่เกิน 10,000 ร้อยละ 33.31 มีรายได้ต่อเดือน 10,001 – 20,000 ร้อยละ 12.99 รายได้ต่อเดือน 20,001 – 30,000 ร้อยละ 6.53 มีรายได้ต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 7.97 มีรายได้ต่อเดือน มากกว่า 40,001 ขึ้นไป และร้อยละ 3.82 ไม่ระบุรายได้