กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--คอร์แอนด์พีค
สสว. จัดสัมมนา "ด้วยเครือข่าย... SME เติบโตได้อย่างยั่งยืน" ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด มุ่งเสริมความรู้เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ พร้อมชี้ช่องต่อยอดธุรกิจร่วมกันของเครือข่าย SME เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นำร่องจัดงานครั้งแรกที่ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี และเตรียมเดินหน้าจัดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง (กรุงเทพมหานคร)
โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด เป็นการคัดเลือกกลุ่มเครือข่าย SME ที่มีศักยภาพทั่วประเทศรวม 54 เครือข่าย ทั้งในภาคเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรม การค้า และบริการ ให้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย และพัฒนาศักยภาพเชิงธุรกิจของเครือข่าย โดยมีหน่วยงานร่วมดำเนินการ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 18 เครือข่าย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
17 เครือข่าย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 7 เครือข่าย กรมส่งเสริมการเกษตร 6 เครือข่าย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย 2 เครือข่าย กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมหม่อนไหม หน่วยงานละ 1 เครือข่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่าย SME ให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงธุรกิจของผู้ประกอบการในลักษณะเครือข่าย ให้ได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไม่น้อยกว่า 10,000 ราย รวมทั้งสร้างโอกาสทางการตลาดรวมถึงมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 1,000 ราย และสามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท
สำหรับประโยชน์ของการรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย (Cluster) จะทำให้เกิดโอกาสในการสร้างความรู้จัก การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนากิจกรรมระหว่าง SMEs ในอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกพื้นที่ สามารถต่อยอดเป็นสังคมหรือเครือข่ายที่มีพลังอำนาจในการต่อรอง และผลักดันให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยกำหนดแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการยกระดับความสามารถด้านการผลิต นวัตกรรม การเชื่อมโยงและพัฒนา รวมถึงบูรณาการความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดและแนวทางในการต่อยอดธุรกิจร่วมกันของผู้ประกอบการและเครือข่าย
ดร.ศิริพร ลาภเกียรติถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมวัสดุ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศ (วว.) กล่าวว่า "วว.มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน ที่ประสงค์ต้องการแปรรูปน้ำยางเป็นสินค้าที่เพิ่มมูลค่า ให้มีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาผลิตภาพสินค้า (Productivity) ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยจะเป็นการพัฒนาแบบบูรณาการตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value chain) เพื่อยกระดับเกษตรกร (Farmer) ซึ่งจากเดิมเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรกรรม ให้พัฒนาเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าทางเกษตรจนสามารถเกื้อหนุนต่อระบบเศรษฐกิจจังหวัดได้"
"นอกจากการทำงานเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว วว. ยังทำงานแบบบูรณการร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร (TISTR & Friends) หรือที่เรียกว่า Triple Helix Model ผ่านการแสวงหาและเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การเข้าเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาสินค้า การบริหารจัดการช่องทางตลาด และสร้างมุมมองทางธุรกิจใหม่ การเข้ามาสนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงแหล่งทุน ตลอดจนการยกระดับผู้ประกอบการขนาดเล็กให้ดำเนินธุรกิจอยู่ในรูปแบบที่เป็นอุตสาหกรรมมากขึ้นนอกเหนือจากการที่เกษตรกรต้องพึ่งพิงตลาดน้ำยางพาราสดที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำแต่เพียงอย่างเดียว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการทำงานแบบบูรณการในครั้งนี้จะสามารถสร้าง Cluster ผู้ประกอบการยางที่มีนวัตกรรมเป็นภูมิคุ้มกันได้อย่างแท้จริง"
นายวีระพัฒน์ เดชารัตน์ หัวหน้าสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางอำเภอบ้านนาสาร ประธาน Cluster เครือข่ายวิสาหกิจผลิตภัณฑ์นวัตกรรมยางพาราครบวงจร กล่าวว่า "ในอดีตการผลิตถุงมือ จากน้ำยางพาราสด ยังไม่เป็นที่ต้องการจากตลาดมากนัก เนื่องจากสินค้ายังไม่สวยงามและคุณภาพยังไม่สม่ำเสมอกัน แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มสวนยางบ้านในสวนขึ้น และได้รับการสนับสนุนจาก วิทยาลัยเทคนิค
สุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในการให้ความรู้ ต่อยอดนวัตกรรม และทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาสูตรน้ำยางและกระบวนการผลิตให้น้ำยางที่เคลือบบนถุงมือผ้ามีความสม่ำเสมอได้คุณภาพตามมาตรฐานตรงความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่น่าดึงดูด"
"ปัจจุบันถุงมือผ้าเคลือบยางได้มีการจำหน่ายในงานแสดงสินค้าทั่วประเทศ ผลลัพธ์ที่ได้คือเครือข่ายสามารถเพิ่มมูลค่าน้ำยาง เป็นรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และสามารถขยายช่องทางการจัดจำหน่ายได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้สมาชิกมีการเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือนสูงขึ้นจากเดิมที่รายได้หลักมาจากการกรีดยาง มีการสร้างงาน รวมทั้งสร้างรายได้ในชุมชน และปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้ประกอบการจากการนั่งรอความช่วยเหลือมาเป็นค้นหาช่องทาง เพื่อเพิ่มผลิตภาพให้เครือข่ายของตน อย่างไรก็ตาม เครือข่ายยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาผลิตภาพ
ให้สูงขึ้น เพื่อรองรับกับการขยายตัวของตลาด และให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเกิดสังคมฐานการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง"
การจัดสัมมนา "ด้วยเครือข่าย...SME เติบโตได้อย่างยั่งยืน" ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด กำหนดจะจัดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยครั้งต่อไปจะจัดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคเหนือ และภาคกลาง (กรุงเทพมหานคร) สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 08-3823-9116