ความเสี่ยงหนี้ครัวเรือน ในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวและค่าครองชีพเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Friday June 24, 2005 13:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--ไทยธนาคาร
สำนักวิจัย ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เผยแพร่รายงานวิจัยเรื่อง ความเสี่ยงหนี้
ครัวเรือน ในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวและค่าครองชีพเพิ่ม โดยสำนักวิจัย มองว่า หนี้ครัวเรือนของ
ไทยในปัจจุบันจะมีความเสี่ยงมากขึ้น จากปัจจัยสำคัญคือ เศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง ดังเห็น
ได้จากเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสแรกปี 2548 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.3 ขณะที่ค่าครองชีพปรับตัว
สูงขึ้นมาก จากนโยบายลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2548 ทำให้ราคาน้ำมันในประ
เทศสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้มีการทยอยปรับเพิ่มราคาสินค้าต่างๆ และค่าโดยสาร ในช่วง
ครึ่งปีหลังของปี 2548 ตลอดจนแนวโน้มการสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค
โดยเฉพาะการซื้อสินค้าเงินผ่อน
นอกจากนี้สำนักวิจัยยังประเมินว่า ค่าใช้จ่ายด้านอาหารและการเดินทางในปัจจุบัน จะเพิ่มสูงขึ้น
มาก และทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 90 เป็นระดับที่
ใกล้เคียงกับปี 2537 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้ครัวเรือนมีเงินเหลือสำหรับการออมน้อยลง
รวมทั้งอาจจะมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ดังนั้นภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีส่วนร่วมในการ
กระตุ้นให้มีการประหยัดการใช้จ่าย โดยเฉพาะการลดการใช้จ่ายในสินค้าที่ไม่จำเป็น
คุณสมฤดี อัตชู เจ้าหน้าที่วิจัย สำนักวิจัย ธนาคาร ไทยธนาคาร วิเคราะห์ว่า สัดส่วนหนี้สินของ
ครัวเรือนต่อ GDP จะมีแนวโน้มสูงกว่าร้อยละ 30 เทียบกับร้อยละ 18.5 ในปี 2539 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤต
เศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบกับการกู้ยืมของครัวเรือนถึงร้อยละ 65 เป็น
การกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งไม่ได้ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน และมองว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือน
ของไทยในปัจจุบันและในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจมีส่วนที่เหมือนกันคือ ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเพื่อ
การใช้จ่ายในครัวเรือน โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 — 65 ของหนี้สินต่อครัวเรือน โดยเฉพาะเพื่อการ
บริโภคและซื้อ / เช่าที่อยู่อาศัย ส่วนข้อที่แตกต่างก็คือ ปัจจุบันการกู้ยืมของครัวเรือนเพื่อใช้ทำธุรกิจที่ไม่ใช่
การเกษตรกลับมีสัดส่วนที่ลดลงเหลือร้อยละ 16.6 ของจำนวนหนี้สินต่อครัวเรือนในปี 2547 เทียบกับร้อยละ
30.9 ในปี 2539 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ในขณะที่ปัจจุบันการกู้ยืมเพื่อใช้ทำการเกษตรกลับเพิ่มสูง
กว่าช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจประมาณ 3 เท่า และมีสัดส่วนที่สูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุน
ให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ทำให้ปัจจุบันครัวเรือนภาคเกษตรมีความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สินมากกว่า
ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ
สำนักวิจัยประเมินว่า การขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่
อยู่อาศัย มีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อลดลง ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยจะปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุน และ
มองว่า การประกาศของ ธปท. เกี่ยวกับการกำกับดูแล Non-bank ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องคิดอัตรา
ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวมกันไม่เกินร้อยละ 28 นั้น จะช่วยป้องกันปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ไม่มากนัก เพราะ
ปัญหาหลักสำคัญของหนี้ครัวเรือนคือ ค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงมาก และพฤติกรรมในการใช้จ่าย ประกอบกับยอดสิน
เชื่อจากธุรกิจ Non-bank มีสัดส่วนต่ำเมื่อเทียบกับสินเชื่อของสถาบันการเงินทั้งหมด
รายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ( หน่วย : บาทต่อครัวเรือน )
รายการ 2537 2539 2541 2543 2545 2547
ค่าใช้จ่ายของครัวเรือน 7,567 9,190 10,389 9,848 10,889 12,115
%การเปลี่ยนแปลง - 21.5 13.1 -5.2 10.6 11.3
รายได้ของครัวเรือน 8,262 10,779 12,492 12,150 13,736 14,617
%การเปลี่ยนแปลง - 30.5 15.9 -2.7 13.1 6.4
สัดส่วนค่าใช้จ่าย / รายได้ (%) 91.6 85.3 83.2 81.1 79.3 82.9 --จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ