กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--มาสเตอร์โพลล์
ดร.นพดล กรรณิกา หัวหน้าโครงการวิจัย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพล (Master Poll) เรื่อง แกนนำชุมชนคิดอย่างไรต่อ ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาชาวต่างชาติ กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 529 ชุมชนตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 10 - 17 กันยายน พ.ศ. 2558 พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.2 ติดตามข่าวสารการเมืองปัจจุบัน ในขณะที่ร้อยละ 2.8 ไม่ได้ติดตาม และเมื่อถามถึง ภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นของประเทศไทยในสายตาของต่างชาติ ภายหลัง คสช. และรัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหา พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 71.9 ระบุ การแก้ปัญหาคนไทย ตีกัน การรักษาความมั่นคงของประเทศ เป็นภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น รองลงมาคือ ร้อยละ 68.3 ระบุความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 65.5 ระบุ การปราบปรามการค้ามนุษย์ ร้อยละ 60.7 ระบุการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ช่วยเหลือดูแลแรงงานต่างด้าว ร้อยละ 59.2 ระบุ การจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยว ร้อยละ 54.8 ระบุ การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ แก้ปัญหาการค้างาช้าง ร้อยละ 53.1 ระบุ ความสามารถของคนไทย ด้าน กีฬา การศึกษา เป็นต้น
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึง การแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวให้มีงานทำ มีรายได้ดี โดยรัฐบาลไทย เปรียบเทียบกับ รัฐบาลต่างชาติที่พัฒนาแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.4 ระบุ รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวได้ดีกว่ารัฐบาลต่างชาติที่พัฒนาแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 12.6 ระบุ รัฐบาลต่างชาติที่พัฒนาแล้วแก้ปัญหาได้ดีกว่า
เมื่อถามถึง ความรู้สึกต่อรัฐบาลต่างชาติที่กระทำต่อประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.2 รู้สึกไม่เป็นธรรมต่อประเทศไทย ในขณะที่ร้อยละ 10.8 รู้สึกเป็นธรรมแล้ว
ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.8 ระบุ นักการเมืองที่สูญเสียอำนาจ สูญเสียผลประโยชน์เป็นกลุ่มคนที่คอยทำร้ายประเทศไทย รองลงมาคือ ร้อยละ 70.5 ระบุคู่แข่งทางการค้าของประเทศไทย ร้อยละ 64.3 ระบุกลุ่มองค์การระหว่างประเทศแอบแฝง NGOs ที่รับจ้างรับเงินต่างชาติ และร้อยละ 62.6 ระบุนักวิชาการที่ต้องการสร้างผลงาน รับเงินต่างชาติ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.7 ยังคงภูมิใจในความเป็นคนไทย และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.5 ยังคงภูมิใจมากถึงมากที่สุดที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ลักษณะทั่วไปของแกนนำชุมชนตัวอย่าง
แกนนำชุมชนร้อยละ 88.1 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 11.9 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 6.4 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 38.2 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 55.4 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 81.4 จบการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 18.6 จบการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป