สศช.จัดประชุมระดมความคิดจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Monday January 12, 1998 20:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--12 ม.ค.--สศช.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดประชุมร่วมระดมความคิดเรื่อง การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ ห้องประชุมเดช สนิทวงศ์ สคช.
ดร.ลิปปนนท์ เกตุทัต ประธานคณะกรรมการการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (กก.สศช.) ในฐานะประธานในที่ประชุม ได้กล่าวเปิดการประชุมว่า ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ตรารัฐธรรมนูญในหมวด 5 มาตราที่ 89 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหมวดนี้ ให้รัฐจัดให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม" ในเรื่องนี้ กก.สศช.จึงร่วมกับสศช.เชิญท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) สมาชิกวุฒิสภา และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องหลายท่านเข้าร่วมระดมความคิด อาทิ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล นายแพทย์ประเวศ วะสี ดร.กระมล ทองธรรมชาติ นายแก้วสรร อติโพธิ นางสาวศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ นายธนินทร์ เจียรวนนท์ ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อร่วมพิจารณาหารือเกี่ยวกับเจตนารมณ์ รูปแบบองค์กร และแนวทางการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเจตนารมณ์ รูปแบบองค์กร และแนวทางการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ในการนี้เลขาธิการฯ สศช.นายวิรัตน์ วัฒนศิริธรรม ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการประชุมครั้งนี้ว่า จากการที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าว รัฐบาลจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการนโยบายและประสานงานการดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี นายพิชัย รัตตกุล เป็นประธาน และเลขาธิการฯ สศช.เข้าร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่พิจารณามอบหมายให้หน่วงงานที่เกี่ยวข้องเป็นเจ้าของเรื่องในการจัดทำกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการประสานและดำเนินการได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
จากเหตุผลดังกล่าว สศช.จึงได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาปรับทบบาทและโครงสร้างสศช.เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนี้ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ เป็นประธาน มีอดีต สสร.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ วุฒิสมาชิก นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรเอกชน นายเอนก นาคะบุตร เป็นที่ปรึกษา และมีเจ้าหน้าที่ สศช.เป็นคณะทำงานฯ โดยคณะทำงานฯ ชุดดังกล่าวมีหน้าที่พิจารณาเสนอแนวทางเกี่ยวกับการออก พรบ.รองรับบทบาทหน้าที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนการปรับปรุงพรบ.สศช. พศ. 2521 เพื่อกำหนดภารกิจของ สศช.ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อ สศช.ได้พิจารณานำผลการดำเนินการของคณะทำงานฯ เสนอต่อ คณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งที่ประชุม คณะกรรมการฯ ได้มีมติให้มีการจัดประชุมร่วมครั้งนี้ขึ้น
ภายหลังการประชุม นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สศช. ได้เปิดเผยแก่ผู้สื่อข่าวว่า ที่ประชุมได้มีความเห็นสอดคล้องกันว่าแนวคิดและเจตนารมณ์ของการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาฯ นี้ เพื่อให้เป็นสภาของประชาชน โดยให้มีอำนานในการให้คำปรึกษาและให้ความเห็นแต่ไม่มีอำนาจในการตัดสินในในเรื่องต่าง ๆ แทนรัฐบาล ซึ่งเจตนารมณ์ที่ได้กำหนดไว้นี้ก็เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน และให้เป็นสภาที่เปิดกว้างเพื่อสามารถระดมความคิดเห็นจากคนทั่วประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อให้แผนการพัฒนาประเทศสอดคล้องกับความต้องการของคนไทยทุกคนอย่างแท้จริง สำหรับสมาชิกของสภาที่ปรึกษาฯ นี้ ควรจะประกอบขึ้นด้วยผู้แทนจากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ เนื่องจากต้องการความคิดเห็นหลากหลายควรมีการปรับเปลี่ยนสมาชิกได้ตลอดเวลาและควรมีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นคราว ๆ ไป เพราะไม่ต้องการให้เกิดฐานอำนาจขึ้นมา
ผู้ทรงคุณวุฒิ สศช.กล่าวต่อไปว่า ลักษณะการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาฯ นี้จะไม่มีการทำงานที่ซ้ำซ้อนกับองค์กรเดิมโดยเด็ดขาด เพราะลักษณะงานของ สศช.จะดูแลในด้านเทคนิค และเป็นฝ่ายบริหารงานเพื่อการวางแผน ในขณะที่สภาที่ปรึกษาฯ จะเป็นสภาที่ให้คำปรึกษาเท่านั้น ไม่ก้าวก่ายในด้านการตัดสินใจ ซึ่งในเรื่องนี้ สศช.ก็จะได้ประโยชน์จากการระดมความคิดเห็นของประชาชนในวงกว้างอีกด้วย สำหรับโครงสร้างของสำนักงานเลขานุการของสภาที่ปรึกษาฯ นี้ ควรเป็นไปในลักษณะเล็กกะทัดรัดและมีประสิทธิภาพเพื่อความคล่องแคล่วในด้านการดำเนินงานอย่างไรก็ตาม การจะกำหนดเป็นรูปแบบใดนั้น ควรที่จะพิจารณาข้อจำกัดทางด้านงบประมาณและกำลังคนด้วย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ