กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานครบรอบ 25 ปี "ยุทธศาสตร์โทรคมนาคมไทย เตรียมความพร้อมสู่ศูนย์กลางอาเซียน" เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.อ. ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมเป็นเกียรติในงาน นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษหัวข้อ "The importance of information to the growth of the Thai economy" โดยกูรูระดับโลก Dr. Cesar A. Hidalgo ผู้เขียนหนังสือ "Why Information Grows"ที่นำเสนอความสำคัญของบิ๊กดาต้า ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และ Mr. Houlin Zhao เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ ซึ่งในโอกาสนี้นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมฯ ได้แถลงถึงวิสัยทัศน์ปี 2015 ของสมาคมฯ โดยมีบุคคลสำคัญในแวดวงไอซีทีร่วมงานอย่างล้นหลาม
พล.อ.อ. ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกล่าวเปิดงานได้แสดงความยินดี เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปีของสมาคมฯ และกล่าวถึงความก้าวหน้าของระบบโทรคมนาคมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งไอซีทีเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของแนวทางในการพัฒนาประเทศตลอดเวลา 25 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันมีหลายโครงการที่จะช่วยกันนำไปสู่สมาร์ทซิตี้ สมาร์ทสคูลซึ่งต้องใช้พื้นฐานของไอซีทีเป็นแกนกลาง รวมถึงเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนและครู ที่ต้องใช้เทคโนโลยีไอซีทีเข้ามาขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียน การหาข้อมูลในห้องสมุด ซึ่งหากสามารถเริ่มต้นตรงนี้ได้เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำในทุก ๆ ด้านก็จะตามมา แต่ขณะเดียวกัน สมาร์ทคอมมิวนิตี้ก็ต้องร่วมดูแลเรื่องของการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมด้วย สำหรับเรื่องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศนั้น
มี 3 ด้านคือ 1. โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 2. โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และ 3. โครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอซีทีซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นมากที่สุด ทั้งในเรื่องสังคม ความมั่นคง และเศรษฐกิจจึงต้องขอความร่วมมือจากทุกคน ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจ มุ่งสู่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านไอทีเพื่อให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าต่อไป
ดร. อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวถึงทิศทางของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศว่าจะมุ่งเน้นการผลักดันบรอดแบนด์แห่งชาติ มุ่งเน้นการพัฒนาอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไม่ว่าจะเป็น Fixed Line หรือ Wireless เพื่อให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ให้บริการครอบคลุมเข้าถึงแหล่งชุมชนทั่วประเทศภายใน 2-3 ปี, การผลักดันการพัฒนาการให้บริการ 4GLTE ในประเทศไทย การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน และการปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจโทรคมนาคมให้เป็นแบบ Layer Separation เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม, การลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสิทธิแห่งทาง (Right of Way) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองที่มีการขยายตัวของการใช้งานสูงการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในดิจิทัล ฮับ ของภูมิภาคอาเซียน โดยสนับสนุนให้มีการลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูลในประเทศ เพื่อดึงดูดผู้ให้บริการเนื้อหา (Content Provider) จากต่างประเทศใช้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของศูนย์ข้อมูลของภูมิภาค ตลอดจนการพัฒนาผู้ประกอบการทั้งด้านไอซีที และผู้ประกอบการในธุรกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม SMEs ให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล"
และกล่าวเสริมถึงบทบาทหน้าที่ของสมาคมฯ ว่า "สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยนับว่าเป็นอีกหนึ่งสมาคมที่มีบทบาทสำคัญไม่เพียงเฉพาะต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศ แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วย จากข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในปัจจุบันมีผู้ใช้งานถึง 93 ล้านเลขหมาย ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรของประเทศและการใช้งานอินเทอร์เน็ตอันเป็นหัวใจสำคัญของการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล มีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 34 ล้านคน โดยเป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ประมาณ 6 ล้านราย แนวโน้มการพัฒนาดังกล่าวได้สะท้อนถึงศักยภาพการพัฒนาของประเทศในด้านไอซีที ซึ่งเห็นได้จากอันดับการพัฒนาตามดัชนีชี้วัดการพัฒนาด้านไอซีที (ICT Development Index: IDI) ขององค์การโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ล่าสุด (ค.ศ. 2013 ตามรายงานการศึกษาประจำค.ศ. 2014) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 81 จาก 166 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสูงขึ้นจาก ค.ศ. 2015 ถึง 10 อันดับ และมีการเติบโตของดัชนีด้านการใช้งาน (Use Index) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 34 อันดับ คือจากอันดับที่ 105 มาอยู่ที่อันดับ 71 โดยสาเหตุสำคัญมาจากการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2,100 MHz สำหรับการให้บริการ 3G จึงทำให้มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์พกพาที่เพิ่มสูงขึ้น"
ทางด้าน นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แถลงวิสัยทัศน์ของสมาคมฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี ว่า "ศักยภาพของประเทศไทยในยุคต่อไปจะเป็นศักยภาพที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการสร้างนวัตกรรม การนำข้อมูลมาใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นยุคที่ทุกธุรกิจจะต้องแข่งขันกันด้วยความสามารถของข้อมูล สำหรับนโยบายดิจิทัล อีโคโนมี จะช่วยลดช่องว่างของความสามารถในการใช้ข้อมูลของโลกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้เป็นอย่างดีและจะสร้างโอกาสอย่างมหาศาลให้กับธุรกิจใหม่ ๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ สรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ นำไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญในการลดช่องว่างในการเข้าถึงดิจิทัล (Digital Divide) ก็คือ ศักยภาพของคน ที่จะสามารถทำงานต่อยอดบนแพลทฟอร์มดิจิทัล หรือเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลอันมหาศาล สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการลดช่องว่างระหว่างสังคม และลดช่องว่างระหว่างเศรษฐกิจ ซึ่งผมเชื่อว่าการสร้างระบบที่จะทำให้ศักยภาพของคนมีความพร้อมก็จำเป็นต้องมี Ecosystem ที่เหมาะสม เริ่มตั้งแต่ระบบการศึกษา ไปจนถึงการที่จะให้สิ่งตอบแทน สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อดึงบุคลากรที่มีความสามารถจากทั่วโลก มาทำงานอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเมื่อทำได้จะก่อให้เกิดการลงทุน รวมถึงการนำเอาทักษะการทำงานเข้ามาในประเทศไทย ก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถ สำหรับวิสัยทัศน์ของสมาคมฯ เราจะมุ่งพัฒนาและนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสร้างความยั่งยืนให้กับระบบสังคม และโลก การที่เรามีธรรมาภิบาลหรือสามัญสำนึกในการประกอบกิจการทั้งหมดทั้งปวงในการใช้เทคโลยีดิจิทัลมาทำให้เกิดความยั่งยืน จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เกิดความไว้วางใจ และนำไปสู่การถ่ายทอดข้อมูลที่มีประโยชน์และสร้างคุณประโยชน์ได้อย่างอเนกอนันต์ต่อไปให้กับประเทศไทยและให้กับภูมิภาค"
บุคคลสำคัญในแวดวงไอซีทีทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมงเป็นเกียรติในงาน อาทิ พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที),ดร.ศรีภูมิ ศุขเนตร นายกกิตติมศักดิ์ และ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.