กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมฝนหลวงฯได้นำเครื่องบินฝนหลวงขึ้นบินสำรวจ สถานการณ์น้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก พบว่า ทั้ง 4 เขื่อนมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมา ณน้ำที่ใช้การได้ ประมาณ 158 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 17 % เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำที่ใช้การได้ 232 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 26 % ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำใช้การได้ ประมาณ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 21 % และเขื่อนภูมิพล เหลือเพียง 8 % ที่ใช้การได้หรือประมาณ 782.78 ล้านลูกบาศก์เมตร
ถึงแม้ขณะนี้จะมีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำทุกวันแต่ก็ถือว่ายังไม่มาก โดยเขื่อนขนาดเล็ก เช่น เขื่อนป่าสักฯ และเขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 5-10 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ อาทิ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำวันละ ประมาณ 20-40 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม หลังสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้คาดว่า ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนโดยรวมทั้งประเทศจะต่ำกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วงเพราะเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องงดทำนาปรัง พร้อมชะลอการปลูกพืชใช้น้ำมากหรือจำกัดพื้นที่ปลูกพืชหลังนา เนื่องจากน้ำต้นทุนมีปริมาณจำกัดซึ่งอาจเกิดปัญหาแย่งชิงน้ำได้ สำหรับน้ำที่เหลืออยู่ควรสงวนไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงการรักษาสภาพแวดล้อมต่างๆ หากจะนำมาใช้เพื่อการเกษตรน่าจะไม่เพียงพอ ??????
"โค้งสุดท้ายก่อนสิ้นฤดูฝนในอีก 3-4 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ยังมีร่องความกดอากาศที่พาดผ่านประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดความชื้นสัมพัทธ์เพียงพอและสามารถที่จะทำฝนหลวงได้ กรมฝนหลวงฯจึงได้มอบหมายให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 9 หน่วย เร่งระดมทำฝนหลวงอย่างเต็มที่ โดยให้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ และเพิ่มจำนวนเที่ยวบินขึ้นบินทำฝนหลวงทันทีเมื่อสภาพอากาศมีความเหมาะสม มุ่งเติมน้ำในเขื่อนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศให้ได้มากที่สุดในช่วงปลายฤดูฝน" นายวราวุธกล่าว
หลังเดือนตุลาคมเป็นต้นไป แม้สภาพอากาศจะไม่เหมาะสมต่อการทำฝนหลวง ทางกรมฝนหลวงฯก็ได้มีการจัดเตรียม "หน่วยเคลื่อนที่เร็ว" อยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ 3 หน่วย และมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทุกภูมิภาคคอยตรวจเช็คและติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ยังมีโอกาสที่จะเกิดฝนได้ ครั้งละ 2-3 วัน หากตรวจพบว่า สภาพอากาศมีความเหมาะสม หน่วยเคลื่อนที่เร็วจะขึ้นบินฉกฉวยสภาพอากาศเพื่อเติมน้ำให้กับเขื่อนต่างๆ และทำฝนหลวงเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรที่ต้องการใช้น้ำ
"นอกจากนั้น ยังมีแผนเลื่อนกำหนดการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปีให้เร็วขึ้นจากเดิมที่เริ่มต้นในวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี สำหรับปี 2559 นี้ จะเลื่อนขึ้นมาเป็นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งคาดว่า สภาพอากาศจะมีความชื้นเพียงพอที่จะทำฝนหลวงได้ เป็นมาตรการหลักที่กรมฝนหลวงฯได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง" อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกล่าว
นายวราวุธแนะนำว่า ขณะที่ฤดูฝนยังไม่หมด ขอความร่วมมือเกษตรกรทั่วประเทศให้ช่วยกันเก็บกักและสำรองน้ำฝนไว้ให้ได้มากที่สุดก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว เพื่อจะได้มีน้ำใช้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค ทั้งยังควรปรับระบบปลูกพืชหลังนาหรือพืชฤดูแล้ง โดยเน้นปลูกพืชใช้น้ำน้อยและอายุเก็บเกี่ยวสั้น ?และควรใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าด้วย เพื่อให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้ ?