กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--พีอาร์ วัน เน็ทเวิร์ค
EGA เดินหน้าจัดสัมมนาและโรดโชว์ EGA Roadshow 2015 : e-Government for All ครั้งที่ 4 จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดสุดท้าย เชื่อมโยงทุกส่วนราชการเพื่อบริการประชาชน" บูรณาการข้อมูลทุกภาคส่วน ยกระดับการบริหารงานและบริการประชาชนให้ได้รับประโยชน์สูงสุดทั่วประเทศ ด้าน จ.นครราชสีมา ตั้งเป้าอีก 4 ปีข้างหน้า โคราชเป็นเมืองน่าอยู่ เดินหน้าเมืองหลวงแห่งภาคอีสาน พร้อมสนับสนุนดึงระบบไอทีเข้ามาช่วยผลักดัน
นางสาวอภิณห์พร อังคกมลเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยถึง การจัดงาน EGA Roadshow 2015 : e-Government for All "รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมโยงทุกส่วนราชการเพื่อบริการประชาชน" ครั้งที่ 4 ว่า สำนักงานรัฐบาอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ได้ดำเนินการจัดงานสัมมนาและโรดโชว์บริการเพื่อภาครัฐในต่างจังหวัด ซึ่งในปีนี้กำหนดจัดทั้งสิ้นจำนวน 4 ครั้ง 4 จังหวัด ครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย จังหวัดนครปฐม นครสวรรค์ ภูเก็ต และนครราชสีมาเป็นจังหวัดสุดท้ายในปีนี้ ส่วนในปีหน้าพร้อมเดินหน้าต่อขับเคลื่อนระบบราชการยุคใหม่เพื่อบริการประชาชนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจในบทบาทภารกิจ รวมถึงประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับบริการต่างๆ ของ EGA ซึ่งได้จัดเตรียมไว้ให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากกลุ่มหน่วยงานภาครัฐที่ใช้บริการจริงจาก EGA ที่จะสร้างประโยชน์กับงานบริการประชาชนอย่างแท้จริง
สำหรับการจัดงานที่จังหวัดนครราชสีมา นับเป็นการจัดงาน ครั้งที่ 4 โดยกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 18 กันยายน 2558 ณ โรงแรมวี-วัน โคราช จ.นครราชสีมา ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายบุญยืน คำหงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานกล่าวเปิดงานและแสดงวิสัยทัศน์เรื่อง "ส่วนราชการระดับจังหวัด องคาพยพสำคัญในการขับเคลื่อนระบบราชการยุคใหม่เพื่อการบริการประชาชน" โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐภายใน จ.นครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และชัยภูมิ ร่วมงานกว่า 150 คน
สำหรับการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากการเผยแพร่บทบาทภารกิจของ EGA แล้วยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานและบริการของ EGA แบบ Showcase เช่น จุดทดลองใช้บริการ GIN Conference, G-Cloud บริการคลาวด์ภาครัฐ Smart Citizen Info โดยนำเสนอตู้ Kiosk เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐผ่านบัตร Smart Card, GAC หรือ Government Application Center แอพพลิเคชั่นที่เป็นศูนย์รวมแอพพลิเคชั่นภาครัฐ พร้อมทั้งยังมีบริการ EGA Counter Service จุดบริการให้คำปรึกษา และรับแจ้งความต้องการเปิดใช้บริการทุก Service ของ EGA ให้แก่ภาครัฐ ที่เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
โดยสิ่งที่นำเสนอในการจัดงานครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า EGA มีการพัฒนาด้าน e-Government อย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการที่สำคัญๆ เช่น ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ หรือ Government Information Network (GIN) ซึ่งเปรียบเหมือนถนนที่จะทำให้ข้อมูลระบบทั้งหมดของภาครัฐ สามารถเชื่อมโยงกันได้ ทั้งยังมีระบบการจัดการเครือข่ายในแต่ละหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยได้เพิ่มเติมทั้งความเร็วของแบนด์วิธ และการบริหารจัดการระบบให้มีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐใช้บริการ GIN แล้วกว่า 3,108 หน่วยงานทั่วประเทศ และในปี พ.ศ. 2558 ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนการใช้งานเป็น 3,500 หน่วยงาน
ระบบบริการคลาวด์ภาครัฐ หรือ G-Cloud ที่จะเข้ามาสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ บนพื้นฐานของหลักการแชร์ทรัพยากรและงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันทาง EGA ได้มีการขยายระบบ เพื่อรองรับความต้องการของหน่วยงานรัฐที่จะเข้าใช้ระบบมากขึ้น และเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยที่ดียิ่งขึ้น รองรับมาตรฐานใหม่ของ Cloud Security Alliance หรือ ซีเอสเอประเทศไทย?
ด้านนายบุญยืน คำหงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีศักยภาพในด้านทำเลที่ตั้งเหมาะสม ทั้งในแง่ที่เป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีระยะทางไม่ห่างจากกรุงเทพฯ โดยมีวิสัยทัศน์สำคัญให้เป็นจังหวัดศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาค มุ่งเน้นเชื่อมโยงเกษตรกรรม – อุตสาหกรรมเป็นหลัก มุ่งพัฒนาให้โคราชเมืองน่าอยู่ภายใน 4 ปีข้างหน้า และเตรียมความพร้อมเป็นเมืองหลวงแห่งภาคอีสานในระยะ 20 ปี
โดยดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาชีวิต ความเป็นอยู่ไปพร้อมๆกัน เป็นการพัฒนาและต่อยอดจากจุดที่จังหวัดมีศักยภาพอยู่แล้ว คือ การยกระดับโลจิสติกส์และการเพิ่มศักยภาพทางเกษตรกรรม – อุตสาหกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การดำเนินโครงการเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การแข่งขันในประชาคมอาเซียน ภายใต้บทบาทของจังหวัดใน 10 ปีข้างหน้า สนับสนุนการผลักดันให้เกิดโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้เทคโนโลยีทางด้านไอทีขั้นสูงเข้ามาช่วยส่งเสริม
ซึ่งการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เข้าไปใช้ในการบริหารจัดการ รวมถึงการพัฒนาความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์กรเอกชน และประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา
สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ถือว่าเป็นการวางรากฐานงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของจังหวัดได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพโอกาสและความได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว รวมทั้งการเผยแพร่วัฒนธรรม ตลอดจนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) เพื่อเสริมสร้างความทันสมัยในการบริหารงานและการให้บริการเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม