กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--RSL
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ร่วมกับ มูลนิธิอีสต์ฟอรั่ม ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) จัดเวทีวิชาการ "EF กับการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติด" ณ ห้องประชุมชฏาแกรนด์บอลลูม 1 โรงแรมบางกอก ชฏา กรุงเทพมหานคร เพื่ออภิปราย ถึง ปัจจัยความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติด ร่วมกับ นักคิดนักวิชาการ ครูอาจารย์ และ สื่อแขนงต่างๆ โดยมุ่งหวังให้เกิดเครือข่ายการทำงาน หรือ Community of Practice ที่จะผลักดันให้เกิดขบวนในการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดโดยการพัฒนา EF (Executive Functions) หรือ ความสามารถของสมองในการบริหารจัดการชีวิตของบุคคลตั้งแต่ปฐมวัย โดยสร้างกระแสตื่นตัวในระดับนโยบาย และเกิดการตระหนักรู้ในระดับปฏิบัติในกลุ่มพ่อแม่ ครู และ ผู้เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยทุกส่วน โดยหวังให้สังคมร่วมกัน สร้างพลเมืองรุ่นใหม่ ไร้ยาเสพติด
นายวิตถวัลย์ สุทรขจิต รองเลขาธิการ สำนักงาน ป.ป.ส. กล่าวว่า สภาพปัญหายาเสพติดในเด็กและเยาวชนยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เด็กที่เข้าสู่วงจรปัญหายาเสพติดมีอายุต่ำลง เช่น ในปี ๒๕๕๘ มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้ารับการบำบัดรักษา ถึง 92,192 คน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 7 คน ต่อประชากร 1,000 คน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประชากร อายุ 16-20 ปี เป็นกลุ่มที่มีปัญหาเสพยาและเข้ารับการบำบัดรักษามากที่สุด การป้องกันยาเสพติดที่ผ่านมาจึงตกอยู่ในสภาวะคล้ายเป็นการไล่ตามปัญหามากกว่าการป้องกันปัญหาล่วงหน้า ดังนั้นในปี 2558 ทางสำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้เริ่มงานด้านการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในกลุ่มเด็กปฐมวัย อายุตั้งแต่ 2-6 ปี แม้เด็กกลุ่มนี้จะยังไม่เกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติดโดยตรง แต่หากสร้างพื้นฐานภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งตั้งแต่ต้นแล้ว เมื่อเด็กกลุ่มนี้เติบโตถึงวัยที่ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก็จะสามารถประคองชีวิตให้อยู่ในหนทางที่ดี ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
สำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้นำแนวคิด Executive Function (EF) มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในเด็กปฐมวัย EF เป็นทักษะที่เกิดจากการพัฒนาศักยภาพทางสมองให้สามารถจัดการชีวิตตนเองได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะปลูกฝังได้ผลดีที่สุดในช่วงปฐมวัยโดยวิธีการพัฒนา EF สามารถทำได้หลายวิธี แต่ในปีแรกสำนักงาน ป.ป.ส. ได้เลือกดำเนินการโดยการพัฒนาหนังสือนิทานสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติด "ชุดอ่านอุ่นรัก" จำนวน 150,000 ชุด เพื่อเป็นเครื่องมือให้ครูปฐมวัย จำนวนกว่า 50,000 คน ได้นำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน และได้ประเมินผลเบื้องต้นแล้วพบว่า เด็กปฐมวัยที่ผ่านกระบวนการพัฒนา EF ด้วยการอ่านนิทานชุดแรก มีพัฒนาการของพฤติกรรมในทางที่ดี ดังนั้น ป.ป.ส. จึงอยากเห็นการต่อยอดแนวคิดนี้ ทั้งนี้ต้องการฝากนักวิชาการที่ศึกษาในเรื่องนี้ ได้ติดตามและมีการประเมินผลในระยะยาวอย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้ทราบชัดถึงพัฒนาการในเด็กกลุ่มที่ได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดด้วยการพัฒนา EF ทั้งนี้ สำนักงานป.ป.ส. คาดหวังว่าจะสามารถสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ ที่มีพื้นฐานภูมิคุ้มกันชีวิตที่ดี เสมือนหนึ่งเป็นเกราะป้องกันต่อปัญหาชีวิตและต่อปัญหายาเสพติด
สำนักงาน ป.ป.ส. ตระหนักดีถึงความท้าทายในการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในเด็กเยาวชนไทยในขณะนี้ คือ การพยายามผลักดัน และส่งเสริมให้เด็กมีทักษะ EF ที่เข้มแข็งโดยเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยจากยาเสพติด แม้จะเป็นกระบวนการที่ยากและใช้ระยะเวลายาวนาน แต่หากคำนึงถึงความคุ้มค่าที่จะแก้ปัญหาที่สาเหตุอย่างตรงจุด ตรงประเด็น ให้ประสบความสัมฤทธิ์ผล มากกว่าที่จะปล่อยปละละเลยในวัยเด็กแล้วหันมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุซึ่งอาจไม่มีทางจบสิ้น สำนักงาน ป.ป.ส. คาดหวังที่จะช่วยลดปัญหาสังคมต่างๆ อันนอกเหนือจากปัญหายาเสพติด และหวังที่จะสร้าง "พลเมืองรุ่นใหม่" เยาวชนไทยที่มีคุณภาพให้กับสังคม และประเทศชาติ อันจะเป็นการสร้างความสุขความเจริญให้กับประเทศไทยอย่างแท้จริง