สอท.เสนอรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินโดยเร่งด่วน

ข่าวทั่วไป Friday February 20, 1998 11:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--20 ก.พ.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอให้รัฐเร่งแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินเพื่อการส่งออก โดยด่วน มิฉะนั้น การส่งออกจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายร้อยละ 7.1 ที่ตั้งไว้
นายฉัตรชัย บุญรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อดูจากตัวเลขเบื้องต้นของการนำเข้า การส่งออก และดุลการค้าประจำเดือนมกราคม 2541 ที่รวบรวมโดยกรมศุลกากรปรากฎว่า ตัวเลขการส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 4,107 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาลดลง 559 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 11.98 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 2,842 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 46.06 มีผลทำให้ดุลการค้าเกินดุล 779 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐอเมริกาสหภาพยุโรปและอาเซียน จากตัวเลขดังกล่าวนี้ เป็นผลมาจากการนำเข้าที่ลดลง รวมถึงการส่งออกที่ลดลงและสินค้าที่ส่งออกก็เป็นสต๊อกเก่าไม่ใช่สินค้าที่ผลิตใหม่
นอกจากนั้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมตลอดปี 2540 เป็นต้นมาลดลงเรื่อย ๆ จนติดลบ เนื่องจากขณะนี้ผู้ส่งออกก็ยังประสบภาวะการขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยปัญหาหลักอยู่ที่เรื่องอัตราดอกเบี้ย ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระจากดอกเบี้ยของเงินที่กู้มาแล้วซึ่งสูงขึ้น และไม่สามารถกู้เงินรอบใหม่เพิ่มได้ เนื่องจากธนาคารก็ไม่มีเงินกลับเข้ามาใช้หมุนเวียนในระบบเช่นกัน ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถจัดซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกได้ ประกอบกับราคาพลังงานสูงขึ้น ค่าจ้างแรงงานและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโดยเฉพาะวัตถุดิบนำเข้ามาจากต่างประเทศก็มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย
สภาอุตสาหกรรมฯ จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งหากลไกที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ในระบบเศรษฐกิจและทบทวนนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่มีอัตราสูงในขณะนี้ รวมทั้งขอให้คำนึงถึงปัญหาการชะลอการลงทุนในประทศ ประกอบกับงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลปีนี้ ยังถูกบีบรัดการใช้จ่ายต่าง ๆ ลงมา อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ และจะส่งผลต่อการต้องสำรองหนี้สูญเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะยิ่งทำให้สภาพคล่องทางการเงินในระบบเศรษฐกิจลดตามลงไปด้วย รัฐบาลจึงควรเร่งหาแนวทางอื่น ๆ ที่จะเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกทางการเงิน (financial facilities) เช่น การเร่งรัดจัดตั้งกลไกค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อ่ช่วยลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ส่งออกได้อีกทางหนึ่ง--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ