CAT เพิ่มมูลค่าโครงสร้างพื้นฐาน ICT ในภูมิภาคอินโดไชน่าภายใต้โครงการความร่วมมือ Greater Mekong Sub-Region Information Superhighway

ข่าวเทคโนโลยี Thursday September 24, 2015 17:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--studio mango บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) เข้าร่วมการประชุมโครงการความร่วมมือ Greater Mekong Sub-Region Information Superhighway เมืองกวางโจว ประเทศจีน โดยมีนายเวนกู อธบดีกรมสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นประธานการประชุม เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แจงความคืบหน้าพร้อมให้บริการทั้งระดับภาครัฐต่อภาครัฐหรือ G2G และการให้บริการเชิงพาณิชย์กับกลุ่มธุรกิจ เพื่อรองรับความต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เติบโตแบบก้าวกระโดด เติมเต็มศักยภาพโครงข่ายบริการ ขึ้นแท่นผู้นำโครงข่ายระดับภูมิภาค จากความร่วมมือของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน เวียดนาม พม่า กัมพูชา ลาวและไทย เพื่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาค ซึ่งได้ร่วมดำเนินโครงการความร่วมมือผลักดันให้มีทางด่วนสารสนเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงภายใต้โครงการGreater Mekong Sub-Region Information Superhighway : GMS-IS โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดขอบเขตความร่วมมือในการสร้างโครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงเชื่อมโยงในลุ่มแม่น้ำโขงให้สามารถรองรับบริการพื้นฐานด้านเสียง ข้อมูล ภาพ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผลักดันร่วมกันในการจัดให้มีทางด่วนสารสนเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และมีการจัดตั้งกลไกเพื่อกำหนดความรับผิดชอบรวมถึงกระบวนการวางแผนและประสานงานด้านต่างๆ เพื่อสร้างทางด่วนสารสนเทศ ซึ่ง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT หนึ่งในสมาชิก ได้ดำเนินงานเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายเชื่อมโยงสร้างความพร้อมในการให้บริการ ณ ทุกจุดเชื่อมต่อพรมแดนไทยทุกแห่ง โดย CAT มีจุดเชื่อมต่อกับพม่า 2 แห่งในภาคเหนือและตะวันตก ลาว 4 แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกัมพูชา 2 แห่งในภาคตะวันออก สำหรับจีนและเวียดนามซึ่งไม่มีพรมแดนติดต่อกับไทยโดยตรง CAT ก็สามารถส่งทราฟฟิกผ่านจุดเชื่อมต่อกับพม่า ลาว กัมพูชาในลักษณะ Transit เพื่อรองรับความต้องการเชื่อมโยงภาคพื้นดินในภูมิภาคได้อย่างสมบูรณ์ด้วย สำหรับการประชุมครั้งนี้เน้นศึกษาการสร้างโครงข่ายภาคพื้นดินร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงเมืองใหญ่ในแต่ละประเทศที่มีบทบาทสำคัญเข้าด้วยกัน อาทิเช่น กรุงเทพฯ ย่างกุ้ง เวียงจันทน์ พนมเปญ ฮานอย และคุนหมิง โดยการประชุมได้เชิญองค์กรโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือ International Telecommunication Union : ITU รวมทั้งผู้ให้บริการด้านคอนเทนท์และแอพพลิเคชั่นรายใหญ่ของจีน อาทิ Alibaba Group และ People's Daily Online ร่วมทำเวิร์คชอปความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคอินโดจีนอีกด้วย ปัจจุบัน CAT เป็นผู้ให้บริการที่มีโครงข่ายเชื่อมโยงผ่านระบบเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศมากที่สุดของไทย ล่าสุดยังได้ร่วมลงทุนในระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ Asia Pacific Gateway หรือ APG ซึ่งมีกำหนดให้บริการในปี 2559 อีกทั้งยังได้มีแผนการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงภาคพื้นดินกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้งานให้บริการระบบสื่อสารหลักและสำรองให้แก่ลูกค้า ทำให้ CAT มีความพร้อมสูงสุดที่จะเป็นผู้ให้บริการระดับภูมิภาค ด้วยตำแหน่งทางการตลาดที่จะเป็น Hub to Indochina หรือเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงหลักรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปลายปี 2558 นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ