กรุงเทพ--6 มิ.ย.--ปตท.
การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เริ่มงานวางท่อก๊าซฯ แล้ว 100 กม. โดยเริ่มงานพร้อมกัน 2 จุด จากโรงไฟฟ้าราชบุรีขึ้นไป และจากพื้นที่ชายป่าที่ ต.ลิ่นถิ่น อ.ทองผาภูมิลงมา ส่วนการวางท่อในพื้นที่ป่าจะเริ่มในฤดูแล้ง พร้อมๆ กับการใช้มาตรการลดผลกระทบควบคู่กันไป ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งป่าไม้ สัตว์ป่า และระบบนิเวศน์เพียงชั่วคราว แต่หากเปลี่ยนแนวท่อไปใช้ตามถนน 3272 จะทำลายพื้นที่ป่าสมบูรณ์มากกว่า
นายสุวนันท์ ชาติอุดมพันธ์ รองผู้จัดการใหญ่วางแผน ปตท.ก๊าซธรรมชาติ เปิเผยว่า ขณะนี้ปตท.ได้เริ่มงานโครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากพม่าแล้วประมาณ 12% ของเนื้องานทั้งหมด โดยก่อนหน้านี้ ปตท.ได้ดำเนินการสั่งซื้อท่อก๊าซฯ พร้อมเคลือบวัสดุป้องกันสนิม จากประเทศญี่ปุ่นประมาณ 2 หมื่นท่อน มูลค่าเกือบ 3,000 ล้านบาทโดยได้นำมาเก็บไว้ในลานเก็บท่อที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี เพื่อทำการเชื่อมท่อ 2 ท่อนเข้าด้วยกัน ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ก่อนขนส่งย้ายไปยังแนววางท่อ ซึ่งได้ปรับพื้นที่ไว้แล้ว และบางจุดอาจต้องทำการดัดท่อให้ได้ตามความโค้งตามสภาพภูมิประเทศ แล้วจึงเชื่อมต่อท่อทั้งหมดเข้าด้วยกันอีกครั้ง ก่อนทะยอยนำท่องวางลงในร่องที่ขุดไว้ และฝังกลบดินเดิม โดยท่อจะถูกฝังใต้ดิน ความลึกวัดจากผิวดินถึงหลังท่อไม่น้อยกว่า 1 เมตร
ปัจจุบัน ปตท.ได้ทำการกรุยทางปรับพื้นที่แล้ว รวมระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรจากความยาวท่อทั้งหมด 260 กิโลเมตร (การทำงานได้เริ่มพร้อมๆ กัน 2 จุด คือจากโรงไฟฟ้าราชบุรีขึ้นไป และจากต.ลิ่นถิ่น อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ใต้เขตพื้นที่ป่าลงมา) และมีการนำท่อไปเรียงตามแนวท่อแล้วประมาณ 50 กิโลเมตร วางและฝังกลบเรียบร้อยแล้วประมาณ 20 กิโลเมตร คิดเป็นเนื้องานประมาณ 12% ของงานวางท่อทั้งหมด
สำหรับกรณีที่มีบางกลุ่มเสนอให้เปลี่ยนแนวท่อไปใช้ตามถนน จากบ้านอีต่องไปอ.ทองผาภูมิ (ถนน 3272 และ 323) ซึ่งเป็นถนนเลียบไหล่เขา ไต่ระดับความสูงตั้งแต่ 200-900 เมตร จากระดับน้ำทะเลนั้น ปตท.ได้เคยศึกษาเส้นทางดังกล่าวแล้ว เห็นว่าถ้าจะดำเนินการวางท่อด้วยมาตรฐานวิศวกรรมก่อสร้างสากลแล้ว จะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าแนวท่อปัจจุบัน เพราะต้องตัดไหล่เขาที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์จำนวนมาก เพื่อขยายถนนซึ่งมีความกว้างประมาณ 6-8 เมตร ให้กว้างขึ้นเป็น 15-20 เมตร และยังต้องปรับสภาพไหล่เขาให้ลดความชัน เพื่อป้องกันการพังทลายของดินอีกประมาณ 20 เมตร รวมพื้นที่ป่าที่ต้องสูญเสียเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 30 เมตร ตลอดแนวถนน ซึ่งมีความยาวประมาณ 30 ิกิโลเมตร ในขณะที่แนวท่อปัจจุบันผ่านพื้นที่ป่าสมบูรณ์เพียง 6 กิโลเมตร ใช้พื้นที่กว้าง 20 เมตร และยังสามารถฟื้นฟูได้ง่ายกว่า เพราะจะไม่มีการทำถนนบนหลังท่อที่ฝังกลบแล้วอีกด้วย--จบ--