กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--IR network
บมจ.ลีซ อิท (LIT) รุกคืบปล่อยสินเชื่อค้ำประกัน"อี-บิดดิ้ง" หวังเพิ่มโอกาสลูกค้าเอสเอ็มอีคว้างานประมูลภาครัฐ ชูจุดขาย "รวดเร็ว สะดวก รู้ผลไว ภายใน 1 วัน" ด้านผู้บริหาร "สมพล เอกธีรจิตต์"ระบุพร้อมออกโปรดักท์การเงินใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า หลังรัฐบาลประกาศเดินหน้าขยายการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) (LIT) แหล่งเงินทุนทางเลือกนอกภาคสถาบันการเงิน (Non Bank) ผู้ให้บริการรับซื้อหนี้การค้าหรือ แฟคตอริ่ง ลีสซิ่ง และสนับสนุนเงินทุนโปรเจ็กต์ เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมให้บริการสินเชื่อเพื่อการจัดหาหนังสือค้ำประกันซองประมูลแบบอเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) สำหรับลูกค้าที่ต้องการเข้าร่วมประมูลงานภาครัฐ โดยให้สินเชื่อตามมูลค่าหลักประกันซอง เพื่อเป็นการสนองนโยบายภาครัฐที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยผู้เข้าประมูลต้องทำผ่านระบบ Electronic Government Procurement ของกรมบัญชีกลาง เพื่อความโปร่งใส เป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการเข้าร่วมประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยบริการที่ รวดเร็ว สะดวก รู้ผลไว ภายใน 1 วัน
"ลีซ อิท ไม่หยุดพัฒนาโปรดักส์ทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบรับผลบวกจากนโยบายภาครัฐที่มีมาตรการเพิ่มเติมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ"นายสมพลกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทเชื่อมั่นว่าการที่ภาครัฐจัดให้มีการประมูลงานผ่านอี-บิดดิ้ง (e-bidding) นั้นจะก่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรมขึ้นเป็นอย่างมากและช่วยให้ลูกค้าเป้าหมายของบริษัทที่เป็นเอสเอ็มอี มีโอกาสสามารถเข้าแข่งขันราคาได้และจะส่งผลให้เกิดการใช้หนังสือค้ำประกันการเข้าประมูลงานแบบอีเล็คโทรนิกส์ของบริษัทเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมกับธนาคารพันธมิตรในการออกหนังสือค้ำประกันการเข้าประมูลงานมีมูลค่าสูงถึง 182 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ออกหนังสือค้ำประกันการเข้าประมูลงานเพียง 39 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2559 จะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการประมูลงานผ่านอี-บิดดิ้ง(e-bidding) จะเริ่มใช้กับหน่วยงานราชการทุกหน่วยงานทั่วประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 2558 นี้
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้สร้างโอกาสให้ลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินมากมาย การปล่อยสินเชื่อของบริษัทมีรูปแบบที่หลากหลาย และดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ไม่มีค่าบริการอื่นแอบแฝง ตอบสนองความต้องการลูกค้าเอสเอ็มอีได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งทำให้พอร์ตลูกค้าเอสเอ็มอีขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 ยอดปล่อยสินเชื่อรวมในทุกผลิตภัณฑ์อยู่ที่ 2,231.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,073.53 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 93% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2557 ที่มียอดปล่อยสินเชื่อรวมอยู่ที่ 1,158.25 ล้านบาท