กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าแนวทางบริหารจัดการน้ำรองรับวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ชู 8 มาตรการ 25 กิจกรรม พร้อมเร่งฝนหลวงปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนภาคเหนือและอีสานตอนบน หวังบูรณาการความช่วยเหลือเกษตรกรรับมือแล้งนี้
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (22 ก.ย.58) มีมติรับทราบสถานการณ์น้ำ สถานการณ์การปลูกข้าวนาปี 2558 และคาดการณ์พื้นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งปี 2558/59 โดยให้มีแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2558/59 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ผู้ใช้น้ำภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคส่วนอื่นๆ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้งปี 2558/59 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป และป้องกันการเกิดข้อขัดแย้งของกลุ่มผู้ใช้น้ำในทุกภาคส่วน รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนเตรียมแนวทางและมาตรการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำน้อยในครั้งนี้
โดยเบื้องต้น ครม.ได้มีมติเห็นชอบกรอบมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ตามที่กระทรวงเกษตรฯเสนอ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ประกอบด้วย 8 มาตรการ ซึ่งมี 25 กิจกรรม ได้แก่ 1) การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน 2) การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 3) การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ทั้งการจ้างแรงงานชลประทาน หรือการจ้างงานเร่งด่วนและการพัฒนาทักษะฝีมือ 4) การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง 5) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยให้ทุกส่วนราชการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด 6) การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ทั้งการขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ การปฏิบัติการฝนหลวง การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 7) การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 8) การสนับสนุนอื่นๆ อาทิ การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 แผนสินเชื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน เป็นต้น ซึ่งแผนงาน/โครงการภายใต้มาตรการดังกล่าว จะดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในเขตชลประทานพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองเป็นลำดับแรก โดยกระทรวงเกษตรฯ จะรวบรวมรายละเอียดของแผนงาน/โครงการและงบประมาณ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบอีกครั้งในสัปดาห์ต่อไป
พลเอกฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมถึง กำหนดการดำเนินงาน โดยในวันที่ 24 กันยายน – 7 ตุลาคม 2558 มอบหมายกรมชลประทานลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ และสถานีสูบน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งในวันศุกร์ที่ 25 กันยายนนี้ จะมีการประชุมจัดทำแผนงานโครงการโดยละเอียด ภายใต้กรอบมาตรการความช่วยเหลือ จะพิจารณาให้ผู้แทนหน่วยงานลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน จากนั้น ในวันที่ 8 ตุลาคมนี้จะมีการ VDO Conference กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงสถานการณ์น้ำ แผนงานโครงการ/มาตรการช่วยเหลือ และการประสานความร่วมมือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยกำกับดูแล ทั้งนี้จะเริ่มปฏิบัติการตามแผนได้ในวันที่ 9 – 23 ตุลาคม 2558 โดยให้ทีมจากกระทรวงเกษตรฯ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ชี้แจงแผนงานให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งสำรวจความต้องการของประชาชน ส่วนการบริหารจัดการนั้น จะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับประเทศ และระดับจังหวัด โดยมีการรายงานความคืบหน้ามายังกระทรวงเกษตรฯ เวลา 18.00 น. ของทุกวันด้วย ซึ่งจะ kick off มาตรการทั้งหมดได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ยังได้สั่งการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รวมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ให้ระดมกำลังไปปฏิบัติการในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนที่ได้รับผลกระทบแทน ซึ่งจะใช้เครื่องบินทั้งหมด 18 ลำ มีความมุ่งหวังเติมน้ำในเขื่อน ทั้งนี้จะเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
คำบรรยายภาพข่าว
เร่งช่วยแล้ง : พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงมาตรการช่วยเหลือภัยแล้ง และผลการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์