กรุงเทพ--12 พ.ย.--อย.
อย.และ สมอ.ร่วมกันลงนามในข้อตกลงร่วมดำเนินการรับรองระบบ HACCP เพื่อผนึกกำลังในการช่วยเหลือ สนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารในประเทศให้มีคุณภาพมาตรฐานตามระบบสากล โดยผู้ส่งออกสามารถยื่นคำขอรับการรับรองตามระบบ HACCP ได้ตั้งแต่บัดนี้ ทั้งที่อย.และ สมอ.
เมื่อวันที่ (10 พฤศจิกายน 2540) เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุม 200 อาคารสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นพ.มงคล ณ สงขลา เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และนางสาวกัญญา สินสกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้ร่วมกันแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนภายหลังพิธีลงนามข้อตกลงร่วมดำเนินงานการรับรองระบบ HACCP ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหารเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำรายได้เข้าประเทศ อันจะช่วยทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอาหารนับเป็นสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและเร่งรัดพัฒนามาโดยตลอด เพื่อลดปัญหาด้านการส่งคืนหรือถูกกักกันสินค้าอาหารโดยประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ จากการที่คณะกรรมาธิการอาหารระหว่างประเทศ หรือ CODEX ได้แนะนำให้ประเทศสมาชิกนำหลักการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม หรือ HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point) มาใช้ในระบบประกันคุณภาพความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งหลักการนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าเป็นมาตรการที่ใช้ป้องกันอันตรายจากการปนเปื้อนของอาหารในกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในขณะนี้ ในส่วนของประเทศไทยได้เล็งเห็นว่าระบบ HACCP มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการสามารถสร้างระบบประกันคุณภาพให้กับสถานที่ผลิตได้ จึงได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำหลักการนี้ไปใช้ได้ โดยได้ออกเป็นประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้หลักการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2540 ดังนั้น เพื่อเป็นการผนึกกำลังในการช่วยเหลือและส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศเข้าสู่ระบบสากลโดยเร็ว รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งออกและให้เป็นที่ยอมรับของประเทศผู้ซื้อ อย.จึงได้ลงนามร่วมกับ สมอ.ในการประสานการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้การรับรองระบบ HACCP แก่โรงงานอุตสาหกรรมอาหารในประเทศ ซึ่งจะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมอาหารสามารถเข้าสู่ระบบ ISO 9000 ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจนพิจารณาปรับปรุงระบบการตรวจสอบ ควบคุม และให้สิทธิพิเศษแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านการรับรองระบบ HACCP ตามความเหมาะสม
สำหรับนโยบายและแนวการดำเนินการของ อย.ในเรื่องนี้นั้น นพ.มงคล ณ สงขลา เลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย.ได้นำระบบ HACCP มาประยุกต์ใช้ควบคู่กับหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร หรือ GMP เนื่องจากการจะพัฒนาสถานที่ผลิตให้เป็นไปตามระบบ HACCP จะต้องนำหลักเกณฑ์ GMP มาเป็นพื้นฐานปฏิบัติก่อน จึงจะสามารถจัดทำระบบ HACCP ได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลดี นอกจากนี้ อย.มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกอบรมให้มีความเชี่ยวชาญสำหรับคอยดูแลและให้คำปรึกษาในการจัดทำระบบ HACCP แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งในขณะนี้ อย.มีบุคลากรที่สามารถรองรับงานส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี และมีความพร้อมในการปฎิบัติงานรับรองระบบ HACCP ได้ในระดับสากล
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสามารถมาขอรับรองระบบ HACCP ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้งที่ อย.และ สมอ.โดยผู้ที่ส่งออกที่ผ่านการรับรองตามระบบ HACCP แล้ว จะได้รับหนังสือรับรองที่ออกโดยทั้ง อย. และ สมอ. และหากผู้ส่งออกมีข้อสงสัยประการใดสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หมายเลขโทรศัพท์ 590-7177, 591-8461-2 หรือที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หมายเลขโทรศัพท์ 202-3437-44
"การร่วมมือกันระหว่าง อย. และ สมอ.ครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการร่วมกันพัฒนาระบบการผลิตอาหารภายในประเทศให้สามารถมีระบบประกันสุขภาพที่ดี เป็นที่เชื่อถือทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถส่งสินค้าอาหารไปแข่งขันกับต่างประเทศ และนำรายได้กลับสู่ประเทศชาติได้อย่างมหาศาล" เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นพ.มงคล ณ สงขลาด กล่าวในที่สุด--จบ--