กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--ซันคอมม์อาร์ท
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลสำเร็จการสนันสนุนเอสเอ็มอีไทย ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่าน Social Media เพื่อเสริมศักยภาพทางการตลาด ขานรับมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ด้วย IT ได้ผู้ประกอบการที่ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ 150 กิจการ มียอด Like เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 % สามารถสร้างยอดขายมากกว่า 100 ล้านบาท
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงผลสำเร็จของกิจกรรม "ส่งเสริม SMEs ใช้ Social Media เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการตลาด" ภายใต้โครงการ "ดิจิทัลเอสเอ็มอี (Digital SMEs)" โดยส่งเสริมและพัฒนา SMEs ใช้ไอที เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และศักยภาพทางการตลาดของกิจการ ซึ่งการดำเนินงานของกิจกรรมนี้ ในปีงบประมาณ 2558 เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยจัดการถ่ายทอดองค์ความรู้ และปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ SMEs จำนวน 150 กิจการ โดยเน้นการใช้ Facebook เป็นเครื่องมือทางการตลาด สำหรับโมเดลการถ่ายทอดองค์ความรู้ และปรึกษาแนะนำเชิงลึกจำนวน 6 ครั้ง ซึ่งจะมีวิทยากรทำหน้าที่เป็นโค้ชให้คำปรึกษาแนะนำตลอดการดำเนินงาน โดยวิทยากรดังกล่าวจะเป็น SMEs ที่ใช้ Social Media เป็นเครื่องมือทางการตลาดให้กับธุรกิจตนเองจนประสบความสำเร็จ ดังนั้นหลังจากที่ได้ดำเนินการจำนวน 4 รุ่น 150 กิจการ ทำให้ SMEs ที่ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ และปรึกษาแนะนำเชิงลึก มียอด Like เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 % จากฐานเดิม และจากการประเมินผล พบว่า มียอดขายโดยรวมจากการขายสินค้าผ่าน Facebook มากกว่า 100 ล้านบาท
โดยตัวอย่าง SMEs ที่เข้าร่วมกิจกรรมและประสบความสำเร็จ เช่น
1. คุณพลอยไพลิน ศรีเฉลิม บริษัท ทริปเปิ้ล เพาเวอร์ โซลูชั่น จำกัด
ธุรกิจผลิตและจำหน่าย ขนมโตเกียวบานาน่าเมืองไทยภายใต้ชื่อ Siam Banana อันโด่งดังบนโลก Online กับเค้กฟองน้ำทรงกล้วยหอม นุ่ม หอม เจ้าเดียวของเมืองไทย ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือทางการตลาดที่ใช้ คือ Social Media กับยอด Like Facebook Fanpage ถึง 68,000 Likes และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. คุณณัฐพาส จิระสถิตย์วรกุล บริษัท Tint bicycle
ธุรกิจผลิตและจำหน่าย จักรยานที่ลูกค้าออกแบบได้เองให้มีความเฉพาะตัวไม่ซ้ำใครได้ มากกว่า 7,000 รูปแบบ โดยใช้ Social Media เป็นเครื่องมือทางการตลาดในการจัดโปรโมรชั่นผ่านหน้า Fan Page ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนในการประชาสัมพันธ์ และสามารถเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้นตอบโจทย์กระแสนิยม การปั่นจักรยานในปัจจุบัน กับยอด Like Facebook Fanpage ถึง 78,000 Likes
3. คุณรัสรินทร์ เรืองบูรณะรัตน์ บริษัท ม้าไม้
ธุรกิจผลิตและจำหน่าย เฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าโดยลูกค้าจะได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ และกำหนดขนาดเพื่อให้เหมาะกับพื้นที่และการใช้งานที่ลูกค้าพอใจ กับการผสมผสานการใช้จุดเด่นของ
Social Media ที่หลากหลาย ซึ่งสามารถที่จะช่วยให้ธุรกิจ เป็นที่รู้จักในวงกว้างบนโลก Online โดยมียอด Like Facebook Fanpage ถึง 126,000 Likes เป็นเครื่องการันตี
จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่า กิจกรรมนี้ช่วยให้ SMEs สามารถใช้ Social Media ในการเพิ่มศักยภาพทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๘ เวลา 13.30 - 16.30 น. ได้มีการมอบวุฒิบัตรให้แก่ SMEs ที่ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ และปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้วย จำนวน ๑๕๐ กิจการ ณ ห้องจูปิเตอร์ 6 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็คเมืองทองธานี ภายในงาน Thailand Industry Expo 2015 โดยในปีงบประมาณ 2559 ก็ยังคงดำเนินกิจกรรมนี้ อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มเติมหลักสูตรกลยุทธ์สร้างแบรนด์ผ่าน Social Media โดยมี SMEs ที่สนใจสมัครรอเข้าร่วมกิจกรรม เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ โครงการ "ดิจิทัลเอสเอ็มอี (Digital SMEs)" ก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกได้แก่ การพัฒนาและส่งเสริม SMEs ใช้ระบบไอทีช่วยบริหารซัพพลายเซนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ การพัฒนาและให้บริการระบบซอฟต์แวร์ ERP by DIP สำหรับ SMEs ไทย โดยเป็นซอฟต์แวร์ ERP บนคลาวด์คอมพิวติ้งที่เหมาะสมกับกลุ่ม SMEs ขนาดเล็ก ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 มี SMEs เข้ารับบริการจากกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาจำนวนมากกว่า 500 กิจการ โดยใช้งบประมาณจำนวน 20 ล้านบาท ซึ่งได้คาดการณ์ผลการดำเนินงานโครงการดิจิทัลเอสเอ็มอี (Digital SMEs) ปี 2558 สามารถช่วยให้ SMEs มีผลิตภาพและประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น สามารถประเมินผลเป็นจำนวนเงินที่ SMEs ได้จากการเพิ่มผลิตภาพ ประหยัดต้นทุนการนำระบบไอทีมาใช้ รายได้ที่เพิ่มขึ้น และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ไม่น้อยกว่า 120 ล้านบาท หากคิด Benefit / Cost Ratio ขั้นต่ำที่ได้จากโครงการนี้เท่ากับ 7.35 หมายถึง รัฐฯ ลงทุนในโครงการนี้ 1 บาท ได้ผลตอบแทนความคุ้มค่า 7.35 บาท ถือว่าเป็นการลงทุนที่มีกำไร