กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--เอ็นจอย คอมมูนิเคชัน
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) ได้กำหนดแผนที่นำทาง (Roadmap) เป็นระยะยาวถึง 15 ปี (พ.ศ.2553-2567) ในการพัฒนาขีดความสามารถและแผนการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากในการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ในภาพรวมของภูมิภาคตามแผนงานต่าง ๆ กรอบเวลาและงบประมาณที่เป็นไปได้ และยังรวมไปถึงความพร้อมด้านการจัดองค์กร บุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน ในการนำระบบยุทโธปกรณ์เข้าประจำการอืกด้วย
สำหรับรายละเอียดแผนที่นำทางได้กำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศอย่างเป็นรูปธรรมเป็นระยะเวลา 15 ปี ภายใต้ข้อกำหนดที่สำคัญ 4 ประการ คือ 1) สนับสนุนให้กระทรวงกลาโหม มีอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอในการต่อต้านภัยคุกคามทุกรูปแบบ 2) เสริมสร้างและรักษาดุลยภาพด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศในภูมิภาค 3) เสริมสร้างและรักษาไว้ซึ่งความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 4) เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
ส่วนเป้าหมายของแผนที่นำทางเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2553 - 2567 ได้กำหนดการทำงานวิจัยและพัฒนาไว้ 8 เทคโนโลยี ประกอบด้วย
(1) เทคโนโลยีอาวุธจรวดและอาวุธนำวิถี (2) เทคโนโลยีการจำลองยุทธ์และการฝึกเสมือนจริง
(3) สารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการป้องกันประเทศ (4) เทคโนโลยียานไร้คนขับ
(5) เทคโนโลยียานรบและระบบอาวุธ (6) เทคโนโลยีต่อต้านการก่อการร้าย
(7) เทคโนโลยีพลังงานสำหรับกิจการป้องกันประเทศ (8) เทคโนโลยีต่อต้านอาวุธทำลายล้างสูง
ซึ่ง DTI ได้ดำเนินการพัฒนาวิจัยผลงานสำเร็จแล้ว 4 โครงการใหญ่ตามแผนแม่บท นั่นก็คือ
1.เทคโนโลยีระบบจรวดหลายลำกล้อง (Mutiple Launch Rocket System (MLRS)
การมีระบบจรวดและอาวุธนำวิถีที่มีอำนาจการยิงสูง โจมตีและทำลายพื้นที่เป้าหมายของข้าศึกในทางลึก และเป้าหมายทางทหารที่สำคัญอื่นๆ เป็นพลังอำนาจทางทหารที่สำคัญ ปัจจุบัน DTI มีผลงานจรวดที่พัฒนาแล้วดังนี้ 1)จรวดหลายลำกล้อง DTI-1 2)จรวดหลายลำกล้องนำวิถี DTI-1G 3)จรวดสมรรถนะสูง DTI–2 4)จรวดขนาด 122 มม. สำหรับฝึก เป็นต้น
2.ระบบสนามฝึกยิงปืนยุทธวิธีเสมือนจริง (Virtual Shooting Range Simulator)
ระบบสนามฝึกยิงปืนยุทธวิธีเสมือนจริง เป็นเครื่องจำลองการฝึกปฏิบัติการทางทหาร (Military Simulation and Training) โดยไม่ต้องนำกำลังและยุทโธปกรณ์เข้าทำการจริง ใช้สำหรับกำลังพลและเจ้าหน้าที่เพื่อให้เข้าใจกลไกการทำงาน สร้างความคุ้นเคยและเกิดความชำนาญทางยุทธวิธีใช้อาวุธประจำกายและยุทโธปกรณ์ที่ราคาสูง สามารถนำมาใช้ทั้งฝึกเป็นรายบุคคลและฝึกร่วมกันเป็นชุดรบ โดยฝึกการเข้าปฏิบัติงานจริง การวางแผนการใช้กำลังยุทโธปกรณ์ที่ใช้การรบ และทดสอบเพื่อคาดคะเนผลที่เกิดขึ้น
3.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการป้องกันประเทศ
โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อจัดการข้อมูลและช่วยเหลือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติภารกิจในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อทำให้การจัดการข้อมูลในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดความยุ่งยากในการตรวจสอบผู้ต้องสงสัย และช่วยจำกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
และอีกหนึ่งโครงการที่ออกแบบและพัฒนาโครงสร้างโดยคนไทยทั้งหมด คือ โครงการพัฒนาระบบ Datalink เพื่อพัฒนาระบบต้นแบบระบบ Datalink ที่ช่วยในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกำลังรบของหน่วยต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยต่างๆ สามารถรับรู้ตำแหน่งที่ตั้งหรือสถานะของฝ่ายตนเองหรือรับข้อมูลเป้าหมายจากที่อื่นได้
4.เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle)
DTI ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาระบบยานไร้คนขับ ร่วมกับกองทัพ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อวิจัยพัฒนายานไร้คนขับให้ตรงตามความต้องการใช้งาน ปัจจุบันมีต้นแบบระบบยานไร้คนขับที่ดำเนินการอยู่ประกอบด้วย 1) อากาศยานไร้คนขับแบบปีกนิ่ง (Fixed Wing UAV) 2)อากาศยานไร้คนขับแบบขึ้น-ลงทางดิ่ง (VTOL UAV) 3) อากาศยานไร้คนขับแบบ Medium Range Tactical (Tiger Shark III) 4)อากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก (Mini UAV) 5)อากาศยานไร้คนขับแบบ Multi Rotor (DTI Multi Rotor UAV)
แผนที่นำทางเทคโนโลยีป้องกันประเทศระยะ 15 ปี ของ DTI ฉบับนี้ จะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่ง DTI และเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้ใช้เป็นแนวทางในการเดินไปสู่จุดมุ่งหมายร่วมกันต่อไปในอนาคต