กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--ธนาคารกสิกรไทย
กสิกรไทย จับมือกรมบัญชีกลาง จัดสัมมนา "SME รับงานภาครัฐคล่องตัวด้วยหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์" ทั่วประเทศ ให้ความรู้วิธีการใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) ที่จะเริ่มใช้ระบบใหม่ทั่วประเทศในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ให้กับลูกค้าธนาคารที่ต้องการเข้าร่วมประมูลกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดต้นทุน และป้องกันการทุจริต โดยธนาคารมีปริมาณธุรกรรมหนังสือค้ำประกันในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาท
นายพิภวัตว์ ภัทรนาวิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการที่กรมบัญชีกลาง งานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ขยายวงเงินการจัดหาพัสดุของส่วนราชการในการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการลงทุนขนาดเล็กจากเดิมวงเงิน 100,000 บาท เพิ่มเป็นวงเงิน 500,000 บาท และยกเลิกการซื้อซองประมูลด้วยเงินสดของภาครัฐ มาเป็นการซื้อซองประมูลผ่านเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง และยกเลิกการวางหนังสือค้ำประกัน (LI) ที่เป็นกระดาษ มาเป็นการวาง LI Electronic Data ผ่านระบบธนาคารโดยเชื่อมต่อระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) เพื่ออำนวยความสะดวก และขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ดังนั้น ธนาคารกสิกรไทย จึงจัดสัมมนา "SME รับงานภาครัฐคล่องตัวด้วยหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์" ไปแล้วจำนวน 17 ครั้งทั่วประเทศ อาทิ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา เป็นต้น โดยร่วมกับกรมบัญชีกลาง งานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้ความรู้ในเรื่องวิธีการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับลูกค้าธนาคารที่ต้องการเข้าร่วมประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ผ่านเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th และนำเสนอบริการออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Letter of Indemnity for Electronic Government Procurement : K e-LI for e-GP) กับธนาคารกสิกรไทย เพียงสมัครใช้บริการกับธนาคารเพียงครั้งเดียว และเลือกออกหนังสือค้ำประกันซองอิเล็กทรอนิกส์กับธนาคารกสิกรไทยได้ทันที โดยไม่ต้องขอวงเงินใหม่ ไม่ต้องใช้หลักประกันเพิ่ม และไม่ต้องจดจำนองใหม่ รู้ผลการอนุมัติรายการภายใน 1 วันทำการผ่านทางเอสเอ็มเอส และเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้า โดยไม่ต้องเข้าเว็บไซต์หรือเดินทางมายังธนาคาร สำหรับลูกค้าที่สนใจใช้บริการ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ K-BIZ Contact Center 02-8888822
นายพิภวัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าผู้ประกอบการที่รับงานภาครัฐอยู่ประมาณ 6,500 ราย ประกอบด้วยธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มบันเทิงและบริการ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ กลุ่มอิเล็คโทนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มเวชภัณฑ์และโรงพยาบาล และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ มีปริมาณธุรกรรมหนังสือค้ำประกันอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาท จากปริมาณธุรกรรมหนังสือค้ำประกันทั้งหมดของทั้งธนาคารที่ 200,000 ล้านบาท