กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี
นายสมชาย ฤกษ์โภคี ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต่างกังวลใจในกรณีที่กรมประมงอนุญาตให้นำเข้ากุ้งขาวจากเกาะ Seram ประเทศอินโดนีเซียได้จนถึงกลางปี 2559 จะก่อให้เกิดปัญหาด้านการระบาดของโรค การแย่งชิงตลาด ส่งผลกระทบต่อราคากุ้งให้ตกต่ำลง
"การนำเข้ากุ้งจากอินโดนีเซียจะส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของไทยซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นเกษตรกรรายย่อยอย่างแน่นอน ทั้งเรื่อง ปัญหาด้านการระบาดของโรคในกุ้ง เนื่องจาก อุตสาหกรรมกุ้งในอินโดนีเซียเองก็มีโรคระบาดในกุ้ง คือ กล้ามเนื้อขาวขุ่นที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ระบาดในอินโดนีเซียมานาน 4-5 ปีแล้ว ขณะที่ในประเทศไทยยังไม่เคยพบการระบาดของโรคตัวนี้ แม้ว่ากรมประมงจะยืนยันว่ามีระบบการตรวจเชื้อโรคอย่างเข้มงวด แต่เกษตรกรยังไม่มั่นใจ และหากเจอโรคระบาดตัวใหม่จะเป็นการซ้ำเติมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยที่เพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤติโรคอีเอ็มเอส และเริ่มมีผลผลิตกุ้งออกมาดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ การนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ ทำให้ปริมาณกุ้งในตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาทำให้ราคากุ้งขาวในตลาดตกต่ำลง จนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่สามารถอยู่ได้ จึงขอฝากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลปัญหานี้ต่ออย่างจริงจัง" นายสมชายกล่าว
นายสมชายยังกล่าวต่ออีกว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงการฟื้นฟูของอุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบ เพื่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงเป็นช่วงที่สำคัญมาก ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันเพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยกลับมาเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ของโลก ในช่วงที่ปริมาณผลผลิตกุ้งของไทยออกจำนวนมาก กรมประมงซึ่งควรจะทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั้งในการเจรจาส่งออกกุ้งไปต่างประเทศ ทั้งอินโดนีเซีย หรือประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหา ทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา หรือออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิภาษีจีเอสพีของสหภาพยุโรปมากกว่า แต่กลับนำปัญหาเรื่องการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศเข้ามาซ้ำเติมเกษตรกรของไทยให้ย่ำแย่ลงไปอีก
"สถานการณ์การจัดการปัญหาโรคระบาดอีเอ็มเอสในอุตสาหกรรมกุ้งของไทย เริ่มกระเตื้องดีขึ้น หลายภาคส่วนมีแนวทางชัดเจนในการจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งของไทยดีขึ้นตามลำดับ เกษตรกรเริ่มมีกำลังใจที่จะกลับมาเลี้ยงกุ้งเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเปรียบเหมือนผู้ป่วยหนักที่เพิ่งออกจากห้องไอซียูจากการลงทุนเพื่อต่อสู้กับอีเอ็มเอส และยังเผชิญกับปัญหาราคากุ้งตกต่ำอยู่ ดังนั้น การนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศเข้ามาก็จะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อยให้เดือดร้อนหนักมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะรุนแรงทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยล่มสลายได้" นายสมชาย กล่าว