กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด เผย ผลติดตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตกระบือของจังหวัดยโสธร ชู ผลการดำเนินงานครบตามเป้าหมายเป็นจังหวัดแรกของประเทศ
นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจเกษตรที่ 11 จังหวัดอุบลราชธานี (สศท. 11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัดเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่ง สศท.11 ได้ร่วมติดตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตกระบือของจังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดโยธรและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดยโสธร
การดำเนินงานโครงการดังกล่าวในปีงบประมาณ 2558 จังหวัดยโสธรมีเป้าหมายการดำเนินงานจำนวน 20 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรทั้งหมด 200 ราย โดยเป็นจังหวัดแรกของประเทศที่ได้ดำเนินการครบตามเป้าหมาย ทั้งนี้ มีผลดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนและมีสมาชิกร่วมโครงการครบตามเป้าหมาย และได้รับอนุมัติสินเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีกลุ่มวิหากิจชุมชนเพื่อจัดซื้อแม่กระบือ จาก ธกส. ครบทั้งหมด 20 กลุ่มแล้ว เป็นเงิน 20,200,000 บาท (ยี่สิบล้านสองแสนบาทถ้วน) โดยเกษตรกรได้จัดซื้อแม่กระบือแล้วจำนวน 404 ตัว
นอกจากนี้ ได้ดำเนินการจ่ายเงินอุดหนุนการจัดทำระบบการให้น้ำแบบประหยัดน้ำขนาดเล็ก สำหรับแปลงพืชอาหารสัตว์ ที่กรมปศุสัตว์จัดสรรงบประมาณให้ ครบตามเป้าหมาย 20 กลุ่มๆ ละ 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 800,000 บาท (แปดแสนบาทถ้วน) พร้อมมอบเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ให้เกษตรกรรายละ 2 กิโลกรัมพร้อมท่อนพันธุ์หญ้าเนเปียร์ปากช่อง รายละ 20 กิโลกรัม
ดำเนินการเจาะเลือดกระบือเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์โรคเท้าติดต่อและวัณโรคแม่กระบือเดิมที่เกษตรกรเลี้ยงอยู่ จำนวน 264 ตัว และแม่กระเบือที่จัดซื้อใหม่ จำนวน 177 ตัว ส่วนที่ยังคงเหลือจะดำเนินการเจาะเลือดตรวจให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม 2558 รวมทั้งดำเนินการคัดเลือกพ่อพันธุ์กระบือประจำกลุ่มในพื้นที่ จำนวน 15 ตัว ดำเนินการขอรับสนับสนุนพ่อพันธุ์กระบือจากกรมปศุสัตว์เพิ่มอีกจำนวน 5 ตัว และอยู่ในขั้นตอนขอเบิกเงินอุดหนุนค่าเลี้ยงดูพ่อพันธุ์ที่กรมปศุสัตว์จัดสรรงบประมาณ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2558 โดยขณะนี้ รอผลการตรวจวิเคราะห์โรคจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อวงแผนการติดเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ (Microchip) ต่อไป
ทั้งนี้ จังหวัดยโสธร นับเป็นเมืองที่มีวิสัยทัศน์แห่งวิถีอีสาน เกษตรอินทรีย์ก้าวไกลสู่สากล ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ในการส่งเสริมการเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ครบวงจร เชื่อมโยงกับโครงการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตกระบือของจังหวัด นายไพฑูรย์ กล่าวทิ้งท้าย