กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปลัด วธ.) กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายในการจัดตั้ง "ศูนย์บันดาลไทย" (The Center of Thai Inspiration) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการและให้คำแนะนำปรึกษาสำหรับการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ ในการบริหารจัดการเสน่ห์ทางวัฒนธรรม และเป็นหน่วยงานในการสร้างแรงบันดาลใจในการนำ "เสน่ห์ไทย" จากทุนวัฒนธรรมในถิ่นต่างๆมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ รวมทั้งได้จัดแสดงผลงานต้นแบบของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว 77 หมวด จำนวนมากกว่า 300 ผลงาน และได้ขยายการดำเนินงานในทุกจังหวัด โดยได้มอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดตั้ง "ศูนย์บันดาลไทย" นำร่องที่โรงงานเถ้า ฮง ไถ่ จังหวัดราชบุรีเป็นแห่งแรกในส่วนภูมิภาค ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชน นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่เข้ามาศึกษาหาความรู้และใช้บริการเป็นจำนวนมาก
ปลัด วธ. กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการขยายการดำเนินงานไปสู่ภูมิภาคในภาคเหนือ กระทรวงวัฒนธรรมจึงดำเนินการจัดตั้ง "ศูนย์บันดาลไทย" ณ จังหวัดเชียงราย โดยใช้พื้นที่ภายในอาคารธรรมสภาของ "ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน" ที่ก่อตั้งโดย พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) เป็นสถานที่จัดตั้ง โดยได้มีพิธีเปิดศูนย์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวมีความพร้อมด้านเสน่ห์ทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมอย่างครบถ้วน และเป็นแหล่งรวมศิลปะของเหล่าศิลปินเชียงราย และศิลปินสลาที่จะสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานให้เกิดศักยภาพเพิ่มขึ้น เพื่อสืบสานและถ่ายทอดศิลปะและวัฒนธรรมล้านนาให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนไทย เข้าถึงและเข้าใจศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม โดยมุ่งเน้นการให้ข้อมูลอย่างใกล้ชิด ตลอดจนสร้างเครือข่ายภายในจังหวัดเชียงรายให้เข้มแข็ง จนสามารถพัฒนาให้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น อีกทั้งศูนย์ดังกล่าวจะเป็นการเปิดพื้นที่พิเศษทางวัฒนธรรมในแทบลุ่มแม่น้ำโขงในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปยังภูมิภาคอาเซียนได้ ทั้งนี้ การจัดจำหน่ายสินค้าของศูนย์นั้นจะมีการเชื่อมโยงกับขัวศิลปะสถานที่ที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการกระจายสินค้าทางวัฒนธรรมในการสร้างรายได้ สร้างคุณค่า และมูลค่ากลับคืนให้กับชุมชนได้