ผู้ปกครองรับหนักใจต่อพฤติกรรมรับน้องพิเรนทร์

ข่าวทั่วไป Tuesday September 29, 2015 14:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ ร่วมเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการจัดกิจกรรมการรับน้องของนักเรียนนักศึกษาที่ไม่เหมาะสม ระหว่างวันที่ 20 - 25 กันยายน พ.ศ. 2558 ดร.ศรีศักดิ์ กล่าวต่อว่าจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,149 คนสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 51.61 ขณะที่ร้อยละ 48.39 เป็นเพศชาย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 29.68 และร้อยละ 27.33 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 41ถึง 45 ปีและ 46 ถึง 50 ปีตามลำดับ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 33.16 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชนคิดเป็นร้อยละ 30.81 ข้าราชการคิดเป็นร้อยละ 25.15 และพนักงานรัฐวิสาหกิจคิดเป็นร้อยละ 22.45 ในด้านความสนใจต่อการติดตามข่าวเกี่ยวกับการทำกิจกรรมการรับน้องที่ไม่เหมาะสมของนักเรียนนักศึกษา กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 48.13 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการรับน้องที่ไม่เหมาะสมของนักเรียนนักศึกษา เช่น กิจกรรมส่อไปในทางลามกอนาจาร กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด กิจกรรมการละเล่นแผลงต่างๆ กิจกรรมความรุนแรงต่อร่างกายบ้าง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.64 ระบุว่าให้ความสนใจติดตามทุกข่าว ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.23 ระบุว่าไม่ให้ความสนใจติดตามเลย สำหรับสาเหตุสำคัญที่สุด 3 อันดับที่ทำให้นักเรียนนักศึกษาจัดกิจกรรมการรับน้องที่ไม่เหมาะสมตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ความคึกคะนองตามวัยคิดเป็นร้อยละ 82.85 การลอกเลียนแบบจากรุ่นพี่คิดเป็นร้อยละ 80.77 และความเก็บกดจากที่เคยถูกกระทำโดยกิจกรรมแบบเดียวกันคิดเป็นร้อยละ 77.98 ในด้านความคิดเห็นต่อแนวโน้มการจัดกิจกรรมการรับน้องที่ไม่เหมาะสมประเภทต่างๆนั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.23 ระบุว่าการจัดกิจกรรมส่อไปในทางลามกอนาจารในกิจกรรมการรับน้องนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดื่มของมึนเมา /เสพยาเสพย์ติดนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.01 ระบุว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.26 ระบุว่ากิจกรรมการละเล่นแผลงต่างๆ มีแนวโน้มเท่าเดิม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 45.26 ระบุว่ากิจกรรมสร้างความวุ่นวายก่อความรำคาญให้กับผู้อื่นมีแนวโน้มเท่าเดิมเช่นกัน อย่างไรก็ตามกิจกรรมความรุนแรงต่อร่างกายนั้นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.65 ระบุว่ามีแนวโน้มลดลง ในด้านความคิดเห็นต่อการเข้าร่วมกิจกรรมการรับน้อง กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.87 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันยังมีการบังคับข่มขู่กดดันให้นักเรียนนักศึกษาต้องเข้าร่วมกิจกรรมการรับน้องอยู่ ขณะเดียวกันหากมีการจัดกิจกรรมการรับน้องของนักเรียนนักศึกษาที่ไม่เหมาะสม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าผู้บริหารของสถาบันการศึกษานั้น ๆ จำเป็นต้องร่วมแสดงความรับผิดชอบด้วยซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.18 นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.24 มีความคิดเห็นว่าควรเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษนักเรียนนักศึกษาที่ทำกิจกรรมการรับน้องที่ไม่เหมาะสมให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างถึงเกือบครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 49.09 มีความคิดเห็นว่าการจัดกิจกรรมการรับน้องที่ไม่เหมาะสมของนักเรียนนักศึกษา เช่น กิจกรรมส่อไปในทางลามกอนาจาร กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด กิจกรรมการละเล่นแผลงต่างๆ กิจกรรมความรุนแรงต่อร่างกาย เป็นต้น จะได้รับการแก้ไขให้หมดไปจากสังคมไทยไม่ได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.03 มีความคิดเห็นว่าสามารถแก้ไขให้หมดไปได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.88 ไม่แน่ใจ กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.8 เชื่อว่าการจัดกิจกรรมการรับน้องของนักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ยังมีความเหมาะสม/เป็นประโยชน์ และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 58.92 มีความคิดเห็นว่าสถาบันการศึกษาไม่ควรยกเลิกการจัดกิจกรรมการรับน้องไปเลย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ