กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--On Art Creation
สสว. จัดงานประกาศผลพร้อมมอบรางวัล "สุดยอด SMEs แห่งชาติ ครั้งที่ 7" ย้ำนโยบายรัฐบาลยกระดับ SMEs วาระแห่งชาติ หลังทำการคัดเลือกผู้ประกอบการที่สมัครเข้าประกวดกว่า 1,042 ราย หวังสร้างแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบ SMEs ให้ตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รองประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) กล่าวในโอกาสเป็นประธานงานประกาศผลและมอบรางวัล "สุดยอด SMEs แห่งชาติ ครั้งที่ 7" หรือ 7th SMEs National Awards 2015 ซึ่งจัดโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ถือเป็นเฟืองจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สะท้อนได้จากจำนวน SMEs ที่มีกว่า 2.74 ล้านรายทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 99.73 ของวิสาหกิจทั้งหมด ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวน 10.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 80.3 ของการจ้างงานทั้งประเทศ สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP ของ SMEs) กว่า 5.21 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.6 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนา SMEs ด้วยการยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมขยายขอบเขตการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs จากเดิม 3 ประเภท เป็น 4 ประเภท ได้แก่ ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ และภาคการเกษตร เพื่อส่งเสริม สนับสนุน เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพ SMEs ให้สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและระดับสากล
"การประกวดรางวัลสุดยอด SMEs แห่งชาติ ถือเป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานที่ดี มีความโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล เพื่อให้เป็นแบบอย่างตลอดจนสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SMEs รายอื่นๆ ตื่นตัวในการปรับปรุง พัฒนาศักยภาพธุรกิจให้เติบโต เข้มแข็ง มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น และเป็นกำลังสำคัญที่จะสามารถนำพาเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งและเติบโตต่อไปในอนาคต"
นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. มีบทบาทหน้าที่และภารกิจในการให้การช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs โดยได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ในทุกมิติมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดโครงการที่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจ อย่าง การประกวด "รางวัลสุดยอด SMEs แห่งชาติ" หรือ SMEs National Awards ที่ สสว. ได้ดำเนินการจัดประกวดมาแล้ว 6 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2549
"การประกวดที่ผ่านมา ล้วนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผู้ประกอบการ SMEs สนใจสมัครร่วมประกวดจำนวนมากเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่ง สสว. ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในการนำแนวทางของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award – TQA) มาปรับใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินธุรกิจ SMEs ที่เข้าร่วมประกวด เพื่อมอบรางวัลให้กับกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่มีประสิทธิภาพและความสามารถในการบริหารจัดการอย่างมีมาตรฐาน"
การประกวดรางวัลสุดยอด SMEs แห่งชาติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2558 มีกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่เป็นเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 4 ภาคอุตสาหกรรมหลัก 20 กลุ่มธุรกิจย่อย คือ ภาคการผลิต ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจสิ่งทอและแฟชั่น ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้ ธุรกิจหัตถกรรม ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ธุรกิจเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ ธุรกิจพลาสติกและยาง ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ ธุรกิจเซรามิก/ ภาคการค้า ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม/ ภาคบริการ ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว และภัตตาคาร ธุรกิจงานสร้างสรรค์และออกแบบ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจเพื่อสุขภาพ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจซ่อมบำรุง และภาคการเกษตร ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร โดยมีผู้ประกอบการ SMEs สนใจสมัครเข้าประกวด 1,042 ราย ผ่านเข้ารอบสุดท้ายเพื่อชิงรางวัลสุดยอด SMEs แห่งชาติ จำนวน 38 ราย และมีผู้ประกอบการได้รับรางวัล สุดยอด SMEs แห่งชาติ จำนวน 3 ราย รางวัล SMEs ดีเด่น จำนวน 13 ราย และรางวัลมาตรฐาน SMEs จำนวน 22 ราย
"การจัดประกวดรางวัลสุดยอด SMEs แห่งชาติ ไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมที่จะเฟ้นหาผู้ประกอบการ SMEs ที่มีการบริหารจัดการดีเด่นเท่านั้น อีกทางหนึ่งจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกระบวนการวิเคราะห์จุดเด่น โอกาสในการปรับปรุง การให้คำปรึกษาแนะนำในการตรวจประเมินสถานประกอบการ เพื่อสะท้อนให้ผู้ประกอบการ SMEs แต่ละรายได้เห็นตัวตนของตัวเอง และชี้แนะแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ ที่สำคัญผู้ประกอบการ SMEs ทุกรายที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย จะได้รับโอกาสในการพัฒนาทั้งศักยภาพการดำเนินธุรกิจและคุณภาพผลิตภัณฑ์จาก สสว. สถานบันเพิ่มผลผลิตฯ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน"
โดยเกณฑ์การตัดสินผู้ที่จะได้รับรางวัลสุดยอด SMEs แห่งชาติ และรางวัลอื่นๆ มาจากการสัมภาษณ์ และการตรวจประเมินสถานประกอบการ โดยคณะกรรมการจะทำการคัดเลือกผู้ที่มีคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มธุรกิจ คือผู้ที่มีคะแนนตั้งแต่ 800 คะแนนขึ้นไป จะได้รับรางวัล "สุดยอด SMEs แห่งชาติ" ตั้งแต่ 700-799 คะแนน จะได้รับรางวัล "SMEs ดีเด่น" และตั้งแต่ 600-699 คะแนน จะได้รับรางวัล "มาตรฐาน SMEs" โดยแต่ละรางวัลจะไม่มีการจำกัดจำนวนของรางวัล
รายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล การประกวดสุดยอด SMES แห่งชาติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2558
รางวัล สุดยอด SMEs แห่งชาติ
1. บริษัท คัฟเวอร์แนนท์ จำกัด (กลุ่มธุรกิจสิ่งทอและแฟชั่น)
2. บริษัท ดีไซน์ ออลเทอร์เนทีฟ จำกัด (กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้)
3. บริษัท อุดรกระจกรถยนต์ จำกัด (กลุ่มธุรกิจค้าปลีก)
รางวัล SMEs ดีเด่น
1. บริษัท ซันไชน์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม)
2. บริษัท เอ็น แอนด์ บี พิซซ่า เครป จำกัด (กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม)
3. บริษัท เมดิฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด (กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม)
4. บริษัท ไทยเทคโนกลาส จำกัด (กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้)
5. บริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด (กลุ่มธุรกิจเครื่องจักรกลและอุปกรณ์)
6. บริษัท จี. ไอ. เอฟ. เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (กลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์)
7. บริษัท เซเว่น ซีส์ อินโนเวชั่น จำกัด (กลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์)
8. บริษัท ดรีมคาร์เซ็นเตอร์ จำกัด (กลุ่มธุรกิจซ่อมบำรุง)
9. บริษัท โกลบเทค จำกัด (กลุ่มธุรกิจงานสร้างสรรค์และออกแบบ)
10. บริษัท เซอร์วิสเอ็นจิเนียริ่ง (1987) จำกัด (กลุ่มธุรกิจเพื่อสุขภาพ)
11. บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (กลุ่มธุรกิจเพื่อสุขภาพ)
12. บริษัท เอ็ม.วาย.อาร์. คอสเมติคส์ โซลูชั่น จำกัด (กลุ่มธุรกิจเพื่อสุขภาพ)
13. บริษัท วี แอนด์ พี เฟร็ชฟูดส์ จำกัด (กลุ่มธุรกิจการเกษตร)
รางวัล มาตรฐาน SMEs
1. บริษัท พรทิพย์ (ภูเก็ต) จำกัด (กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม)
2. บริษัท อาเคเดีย ฟูดส์ จำกัด (กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม)
3. บริษัท แต้ง่วนไถ่ จำกัด (กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม)
4. บริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด (กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม)
5. บริษัท เวย์ตาน่า จำกัด (กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม)
6. บริษัท พี.พี.เอ็น. ฟู้ดส์ จำกัด (กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม)
7. บริษัท กลัฟเท็กซ์ จำกัด (กลุ่มประเภทธุรกิจสิ่งทอและแฟชั่น)
8. บริษัท อี.พี. เดคคอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (กลุ่มธุรกิจพลาสติกและยาง)
9. บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด (กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์)
10. บริษัท 10 กันยา จำกัด (กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์)
11. บริษัท เอเซีย แอมโร อินดัสตรี้ จำกัด (กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์)
12. บริษัท ไลท์ติ้ง แอคเซสโซรี่ จำกัด (กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์)
13. บริษัท เดอะตรีทัช เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (กลุ่มธุรกิจค้าปลีก)
14. โรงแรมพนมรุ้งปุรี (กลุ่มธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว และภัตตาคาร)
15. ปานวิมาน เกาะช้าง รีสอร์ท (กลุ่มธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว และภัตตาคาร)
16. บริษัท เอส.พี.เค. เครน จำกัด (กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์)
17. ดร.อรวรรณ สถาบันสุขภาพและความงามแบบองค์รวม (กลุ่มธุรกิจเพื่อสุขภาพ)
18. บริษัท เค ซี มหานคร จำกัด (กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง)
19. บริษัท บ้านสวยกรุ๊ป (สุราษฎร์ธานี) จำกัด (กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง)
20. บริษัท เอื้ออังกูร เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง)
21. ห้างหุ้นส่วนจำกัด จักรวาลบุรีรัมย์ (กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง)
22. บริษัท ปราบขยะรีไซเคิล จำกัด (กลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม)