กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--ACFF
เมื่อเร็วๆ นี้ ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย ได้เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมทันตแพทย์โลก (FDI World Dental Congress) ประจำปี 2558 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ว่า การประชุมทันตแพทย์โลก ประจำปี 2558 ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 103 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพปีแรก ภายใต้แนวคิด Dentisty in the 21stcentury หรือวิทยาการด้านทันตกรรมในศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดและวิทยาการใหม่ๆ จากทันตแพทย์ทั่วโลกกว่า 100 คน โดยภายในการประชุมครั้งนี้กรมอนามัยได้ประกาศเป้าหมายว่าเด็กไทยที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2569 หรืออีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า เด็กไทยเมื่อโตขึ้นต้องปราศจากรูฟันผุตลอดช่วงชีวิต ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์ปัญหาทันตสุขภาพในประเทศไทยพบว่าในปัจจุบันคนไทยยังมีปัญหาโรคฟันผุและปริทันต์มาก เด็กไทยมีฟันผุร้อยละ 60 ผู้ใหญ่มีประสบการณ์ฟันผุร้อยละ 80 และขณะนี้ประชา กรทั่วโลกมีฟันผุ 5.4 พันล้านคน หรือประมาณ ร้อยละ 80 โดยการดำเนินด้านงานทันตสาธารณสุขของประเทศไทยที่ผ่านมามีนโยบายสนับสนุนการเข้าถึงบริการทันตกรรมของประชาชน การทำฟันฟรีในชุดสิทธิประโยชน์ของโปรแกรมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงโครงการฟันเทียมพระราชทาน และโครงการรากฟันเทียมพระราชทาน โครงการรณรงค์ส่งเสริมการดูแลสุขภาพ ช่องปากเด็กผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน การบูรณาการในโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ส่งผลให้ลดโรคฟันผุในเด็กและลดการสูญเสียฟันในผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า โรคในช่องปากเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญ เช่น มะเร็ง โรคหัวใจหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจ และโรคเบาหวาน และผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคในช่องปากเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะโรคปริทันต์ ทางกรมอนามัยจึงได้ประสานกับกรมควบคุมโรคในการบูรณาการ งานส่งเสริมสุขภาพช่องปากไปพร้อมกับคลินิกคัดกรองโรค เบาหวานและความดันโลหิตสูง ในหน่วยบริการ และชุมชน 40 จังหวัดนำร่อง เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยกรมอนามัยได้ส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมที่เหมาะสมด้วยหลัก 3 อ. 2ส. 1ฟ. คือ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ และดูแลทำความสะอาดฟัน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปากรวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วย
ด้าน รศ.ทพ.ประทีป พันธุมวนิช ประธานฝ่ายวิชาการและวางแผน โครงการประสานความร่วมมือเพื่อสังคมไทยไร้ฟันผุ (The Alliance for a Cavity-Free Future หรือ ACFF) และอดีตคณบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า "ทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้แนะนำให้ประเทศสมาชิกได้มีการส่งเสริมเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน โดยเฉพาะโรคฟันผุที่เกิดขึ้นในเด็ก จึงทำให้เกิด ACFF ที่จัดตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ มีเป้าหมายที่จะหยุดการเกิดโรคฟันผุทั่วโลก โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดทำแคมเปญรณรงค์แก้ไขปัญหาโรคฟันผุในหลายประเทศ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน, ตุรกี, อินเดีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, รัสเซีย, ออสเตรเลีย, บราซิล ฯลฯ สำหรับในประเทศไทยจัดขึ้นโดยโครงการประสานความร่วมมือเพื่อสังคมไทยไร้ฟันผุ (The Alliance for a Cavity -Free Future หรือ ACFF Thailand) ภายใต้ความร่วมมือของสำนักทันตสาธารณสุข, สำนักอนามัย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ, เครือข่ายผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย, ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุน ได้แก่ คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ ฯลฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความสำคัญเรื่องการดูแลรักษาและป้องกันโรคฟันผุ ให้เป็นพันธกิจด้านสาธารณสุขระดับโลก, ส่งเสริมและผลักดันให้คณะทันตแพทย์, บุคลากรด้านทันตสาธารณ สุขทุกภาคส่วนได้มีเกณฑ์การตรวจและวินิจฉัย หาแนวทางป้องกันและรักษาโรคฟันผุที่เป็นมาตรฐานเดียว กัน ทั้งนี้เพื่อให้คนไทยจะได้มีสุขภาพฟันที่ดีในทุกช่วงวัยของชีวิต และบรรลุเป้าหมายสำคัญตามที่ทุกประเทศรวมถึงประเทศไทยได้ตั้งไว้คือ เด็กที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ.2026 (หรือ พ.ศ.2569) จะต้องปราศจากรูฟันผุ ครับ" รศ.ทพ.ประทีป กล่าว