กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--สำนักงาน ป.ป.ช.
ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 บัญญัติมาตรา 123/5 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใดและกระทำไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าแต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ
บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึง ลูกจ้าง ตัวแทน บริษัทในเครือ หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ในการนั้นหรือไม่ก็ตาม
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการทุจริต ตามมาตรา 123/5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 โดยมี ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ และมีผู้แทนจากองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการดังกล่าวด้วย โดยมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2558 ณ ห้องนนทบุรี 3 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ) จังหวัดนนทบุรี
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อร่างแนวทางในการกำหนดมาตรการควบคุมภายใน ที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการทุจริต และมอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ช. และองค์กรภาคเอกชนร่วมกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์มาตรา 123/5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ให้ภาคเอกชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้นิติบุคคลกำหนดมาตรการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ไทยหรือต่างประเทศ มีการกำหนดโทษปรับเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของนิติบุคคลที่ไม่อาจรับโทษจำคุกได้ โดยมีอัตราโทษปรับจากค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่นิติบุคคลนั้นได้รับ ซึ่งกรณีที่เป็นการให้สินบนในโครงการขนาดใหญ่ อาจทำให้มีโทษปรับทางการเงินเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาท โดยมาตรการลงโทษทางการเงินนี้จะทำให้รัฐได้รับ การเยียวยาความเสียหาย เพื่อเอาประโยชน์ที่นิติบุคคลไม่ควรได้กลับคืน และเพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิด