กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
ม.ทักษิณ จัด รับน้องปลอดเหล้า สานสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้องด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์แบบไร้แอลกอฮอล์ ชวนนิสิตและประชาชน 3000 คน ปฏิบัติการคืนความสุขให้ชุมชน ช่วยชาวบ้านดำนา 99 ไร่!!!ตอกย้ำแนวคิดรับใช้สังคม พร้อมนำร่องมหาวิทยาลัยในภาคใต้สร้างประโยชน์แก่ชุมชนเสริมความสุขของบุคลากรและสอดคล้องกับวิถีคนท้องถิ่น
วันที่ 27 กันยายน 2558 มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา จัดกิจกรรมรับนิสิตใหม่ชั้นปีที่ 1 ตามโครงการ "ออกปากน้องดำนาตามประสาคนใต้" โดยมุ่งให้ผู้เรียนมีความสัมพันธ์กับคนในสังคม ผ่านส่วนงานทางวิชาการและกิจกรรมของสถานศึกษา ทั้งด้านกีฬา ศิลปวัฒนธรรม การบำเพ็ญประโยชน์ สร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยที่เน้นการทำประโยชน์เพื่อรับใช้สังคม ซึ่ง เป็นการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ ปลูกฝังการมีจิตสาธารณะให้แก่นิสิต ส่งเสริมให้เกิดการทำนาเกษตรอินทรีย์สู่วิถีที่ยั่งยืนของชุมชน ภายในงานมีการร่วมกันดำนา 99 ไร่ ของนิสิตใหม่ นิสิตปัจจุบัน และครูชาวนาเข้าร่วมถึง 3000 คน โดยมีนายนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ณ แปลงนาเกษตรอินทรีย์บ้านในโพ๊ะ หมู่12 ต.ตะโหมด จ.พัทลุง
อ.เปลื้อง สุวรรณมณี ผอ.สถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ ม.ทักษิณ จ.สงขลา ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ทางสถาบันมีการเชื่อมกับนิสิตเพื่อลงไปทำกิจกรรมกับชุมชน ผ่าน 2 กระบวนการ คือ สร้างรายวิชา วิถีชุมชนท้องถิ่น กับการประสานกับนิสิตทุกสาขาที่สนใจทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ซึ่งกิจกรรมรับน้องดำนานี้ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนมิติในการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนมากขึ้น เพราะไม่เพียงแค่ไปร่วมกิจกรรมแล้วจบ แต่มีการพัฒนากระบวนการที่สามารถต่อยอดไปอีกเรื่อยๆ เพราะการทำนาต้องมีช่วงเวลา มีความรู้ความเข้าใจ นิสิตจะได้มีการเรียนรู้ เกิดกระบวนการสร้างสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่สู่รุ่นน้องได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญเป็นกิจกรรมแบบสร้างสรรค์ เกิดประโยชน์ สำหรับกระบวนการคัดเลือกชุมชนนั้น ม.ทักษิณมีการสร้างเครือข่ายชุมชนอยู่แล้ว หนึ่งในนั้น คือ ชุมชนหมู่ 12 ต.ตะโหมด จ.พัทลุง โดยได้ไปขับเคลื่อนการทำเกษตรอินทรีย์อยู่ด้วย ประมาณ 1 ปีกว่าแล้ว เพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีความรู้และมีต้นทุนทางวิชาการจากทางมหาวิทยาลัย ส่วนนิสิตก็ได้ประสบการณ์ชีวิต เห็นคุณค่าของข้าวมากขึ้นหลังจากได้ทำนาจริงในครั้งนี้
นายเทวินทร์ ลู่ตาม นายกองค์การนิสิต ม.ทักษิณ จ.สงขลา กล่าวว่า หลังจากที่มหาวิทยาลัยได้ประกาศยกเลิกระบบโซตัส ซึ่งอาจเป็นการลิดรอนสิทธิของน้องใหม่เพื่ออ้างให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ และบางทีเรามักจะเห็นว่ามีการรับน้องแบบรุนแรง มีการดื่มเหล้า แต่ความจริงมิตรภาพไม่ได้เกิดมาจากวงเหล้า แต่มาจากความจริงใจ สร้างสิ่งที่ดีร่วมกันมากกว่า จึงสรุปกันว่าอยากให้มีการจัดกิจกรรมรับน้องดำนาเกิดขึ้น เพราะทางภาคใต้นอกจากมีการกรีดยางเป็นอาชีพหลักแล้ว การทำนาก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ทำกันเป็นจำนวนมาก น้องๆจะได้รู้คุณค่าของข้าวมากขึ้น มีการช่วยเหลือกัน สร้างความสามัคคีกัน และไม่ทิ้งกัน เชื่อว่ากิจกรรมแบบนี้จะทำให้น้องใหม่ยินดีที่จะเข้าร่วมอย่างเต็มใจ และสอดคล้องกับแนวคิดของมหาวิทยาลัย คือ การสร้างประโยชน์เพื่อรับใช้สังคม ในครั้งนี้จะมีครูชาวนาซึ่งเป็นชาวบ้านมาร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม สร้างสัมพันธ์ภาพที่ดีระหว่างสถานศึกษากับชาวบ้านมากขึ้น อย่างน้อยก็จะได้เรียนรู้และสามารถไปบอกต่อได้ว่าเป็นการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ และครั้งนี้ถือเป็นการนำร่องมหาวิทยาลัยในภาคใต้ ที่มีการร่วมมือระหว่างชุมชน ส่วนกิจกรรมต่อยอดที่จะจัด คือ หลังจากที่น้องปี 1 ดำนา ไปแล้ว เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ทางพี่ๆปี 4 ที่กำลังจะจบการศึกษา ก็จะมาร่วมกันเกี่ยวข้าว ถือเป็นการสิ้นสุดโครงการ เป็นกิจกรรมที่เชื่อมประสานของรุ่นพี่สู่รุ่นน้องได้เป็นอย่างดี
ด้านนายสุพัตร เขียวจีน ผู้ใหญ่บ้านในโป๊ะ หมู่ 12 อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวว่า ที่หมู่ 12 นี้มีพื้นที่ทำนาประมาณ 200 กว่าไร่ ก่อนที่จะมาทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นโครงการร่วมกับ ม.ทักษิณนั้น ชาวบ้านที่นี่ไม่ได้ทำนา แม้จะมีผืนนาเป็นของตัวเองก็ตาม ทำให้นารกร้าง เพราะคนเข้าเมืองไปทำอาชีพอื่นกันหมด ไม่ก็กรีดยางมากกว่า แต่มาเปลี่ยนแนวคิดเมื่อ 2549 เพราะเมื่อมีการคุยกันแล้วลงมือทำอย่างจริงจัง พอชาวบ้านทำแล้วเห็นผลผลิตว่าขายได้ดี เก็บเอาไว้บริโภคได้ ก็มาทำกันเยอะขึ้น จนทุกวันนี้ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องการทำนาข้าวสังข์หยด เป็นข้าวชั้นหนึ่งของภาคใต้ โดยเมื่อปีที่แล้วก็ได้เข้าร่วมโครงการกับทาง ม.ทักษิณ ที่ได้มาสอนให้ชาวบ้านทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษ และปลอดภัยจากอันตรายจากสารพิษสะสมในร่างกาย ทำให้ชาวบ้านเข้าร่วมโครงการด้วยจำนวนมาก และพอรู้ว่ามีการจัดกิจกรรมรับน้องดำนาชาวบ้านก็สบายใจว่ามีคนมาช่วย เพราะการทำนาต้องใช้เวลา ใช้แรงงาน และต้องอดทน จึงถือว่าเป็นการกิจกรรมการรับน้องที่ดี เพราะช่วยฝึกให้เด็กได้รู้ ได้ทำจริง และเข้ามามีส่วนร่วมกับสังคม ชุมชนมากขึ้น และยังทำให้คนรุ่นใหม่ที่ไม่รู้จักกระบวนการผลิตข้าว ก็จะได้เรียนรู้วิธีการทั้งหมด โดยมีครูชาวนาซึ่งเป็นชาวบ้านที่ทำนา มาสอน และชื่นชมที่มีการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมส่วนร่วมมากกว่าเพื่อความสนุกสนานหรือสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น